ครูคิดดีแล้วหรอ จะมาสอนที่นี่ !!

“ใหญ่” นักเรียนสุดเฮี้ยว ขณะที่ครูสอน  ใหญ่มักจะเคาะโต๊ะ ร้องเพลง ตั้งวงดนตรี หรือวาดรูปที่ขาของเพื่อน  ท่าทางของใหญ่ ก็ทำตัวใหญ่สมชื่อ เขาคือคนที่แกล้งเพื่อนแล้วเพื่อนไม่กล้าโต้ตอบ  

ใหญ่เคยแกล้งเพื่อนคนหนึ่งที่กำลังตั้งใจเรียน โดยเริ่มจากการตบหัวเพื่อน โยนกระดาษใส่จนเพื่อนเรียนไม่รู้เรื่อง  ครูต้องพาเข้าห้องปกครอง พอครูปกครองถามว่าใหญ่แกล้งอะไร เพื่อนก็ไม่กล้าบอกครู เพราะกลัวอิทธิพลของใหญ่ แม้กระทั่งกับครูบางคน ใหญ่ก็เคยถีบโต๊ะต่อหน้าต่อตาครู

“อาจารย์ไม่ต้องสนใจมันหรอก คนทั้งห้องรออาจารย์อยู่ เพราะยังไงไอ้นี่ก็ไม่เรียนอยู่แล้ว”
“เอาใหญ่ย้ายไปอยู่ห้องอื่นได้ไหม”

มุมมองที่หลายคนมองใหญ่ จึงถูกตีตราไปว่าเป็น ‘ตัวปัญหา’ เวลานอกห้องเรียน ใหญ่จับกลุ่มกับรุ่นพี่ ม.4-5 กลายเป็นแก๊งหัวโจกที่ดูมีอิทธิพลในโรงเรียน แม้ว่าขณะนั้น ใหญ่จะเป็นนักเรียนชั้น ม.2 แต่พี่ๆ ม.ปลายบางคนยังไม่กล้ายุ่งจนกระทั่ง มีครูท่านหนึ่งเข้ามาสอนในโรงเรียน 

ผมสีบลอนด์ทอง ใส่กางเกงลายสก็อต เสื้อลายคล้ายเดอะทอยส์ (The Toys) สวมสร้อยคอสีเงินเส้นใหญ่  ใส่ถุงเท้าข้อสั้นกับรองเท้าหนังกุชชี่ (Gucci) “ครูกรีน” 

การแต่งตัวของครูกรีนที่แปลกแหวกแนว ทำให้คุณครูในโรงเรียนต่างตั้งคำถามว่าเขาจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้นักเรียนได้หรือไม่  ส่วนนักเรียนก็พากันมองครูกรีน เพราะไม่เคยมีครูคนไหนแต่งตัวแบบนี้  

ครูกรีนเข้าไปสอนในห้องวันแรก สิ่งที่ครูกรีนทำ คือ ให้นักเรียนทุกคนตั้งคำถาม

“ครูมีแฟนยัง”
“ครูอายุกี่ปี”
“ครูรวยมั้๊ย”
“ครูชอบผู้หญิง หรือชอบผู้ชาย”

เด็กๆ ในห้องต่างพากันส่งเสียงถามไม่หยุด ซึ่งคำถามที่ถามไม่เกี่ยวกับการเรียนเลย มีแต่คำถามที่อยากจะรู้จักตัวตนของครูท่านนี้ จนกระทั่ง มีเสียงหนึ่งดังขึ้น

“ครูคิดดีแล้วหรอจะมาสอนที่นี่!!” คำถามที่ดังมาจากหลังห้อง นั่นคือเสียงจากกลุ่มของใหญ่
“คอยดูแล้วกันน่า ว่าจะไหวไม่ไหว” ครูกรีนตอบกลับไป

ในสัปดาห์แรก ครูกรีนไม่สอนเลย แต่เน้นให้นักเรียนถามตอบ เด็กๆ ในห้องเสียงดัง เดินไปมา ตีกับเพื่อนบ้างเพราะในห้องเรียนของครูกรีนไม่มีข้อห้าม แต่นั่น คือความตั้งใจที่ครูกรีนอยากจะลองสังเกตดูว่านักเรียนของเขาแต่ละคนมีตัวตนแบบไหน จะแสดงพฤติกรรมอะไรออกมาบ้าง  

“คุณจะเป็นตัวเองได้ก็ต่อเมื่อสามารถควบคุมตัวเองได้” สิ่งที่ครูกรีนบอกกับนักเรียน 

เด็กๆ เริ่มเกิดการตระหนักรู้ในตนเองว่าเขากำลังทำอะไรอยู่ในห้อง โดยที่ครูไม่ต้องมาดุ  ไม่ใช่เพียงคำพูด กิจกรรมการเรียนในห้องเรียนที่ครูกรีนเตรียมมาในแต่ละคาบ ไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนมีเวลาไปสนใจสิ่งอื่น หรือเล่นกันแกล้งกัน หลักสูตรที่ครูกรีนเรียกว่า “Adventure Learning Program” สร้างสวนสนุกในการเรียนรู้ หมายความว่านักเรียนทุกคนจะสนุกกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ทำให้เด็กอยากมีส่วนร่วม และความสนุกนี้เองทำให้นักเรียนไม่หลุดความสนใจกับกิจกรรมการเรียน

เช่น กิจกรรมการเรียนรู้เรื่อง แรงพยุง ครูกรีนให้ภารกิจแต่ละกลุ่ม หาวิธีการนำกระดาษหนังสือพิมพ์มาสร้างเรือ 1 ลำ ที่รับน้ำหนักได้มากกว่า 5 กิโลกรัมขึ้นไป ผลปรากฏว่า กลุ่มที่ทำเรือรับน้ำหนักได้มากที่สุด ถึง 25 กิโลกรัม คือ กลุ่มของใหญ่ แม้ว่าในช่วงแรก ใหญ่ก็ยังคงแสดงออกท่าทีที่ก้าวร้าวใส่ครูกรีน แต่ความเป็นผู้นำของใหญ่ถูกนำออกมาใช้ในทางที่สร้างสรรค์มากขึ้น  ใหญ่ที่เคยแกล้งเพื่อนในห้องเพราะรู้สึกว่าการเรียนไม่สนุก แกล้งเพื่อนสนุกกว่า กลายเป็นคนที่ตั้งคำถาม ยกมือตอบครูมากที่สุดในคาบเรียนวิทยาศาสตร์

เวลาใหญ่ตอบคำถาม ครูกรีนมักจะให้ feedback กับใหญ่ว่า

“ใหญ่ตอบคำถามเหมือนเด็กมหาลัยเลย มีการวิเคราะห์ สังเคราะห์”

ใหญ่ก็เริ่มเห็นศักยภาพในตนเองมากขึ้น
ใหญ่เริ่มเปิดใจให้ครูกรีนและเรียกครูกรีนว่า “อาจารย์พ่อ” 

“มีแฟน ต้องทำยังไง”
“ผมควรเรียนต่อไหม”
“ผมควรจะทำยังไงให้ครูคนอื่นเข้าใจผม”

ใหญ่มักจะมาหาครูกรีนตอนเย็นหลังเลิกเรียน และปรึกษาครูกรีนมากขึ้น ตั้งแต่เรื่องเรียน เรื่องส่วนตัว ไปจนถึงเป้าหมายในการเรียนต่อ

ครูกรีนไม่ได้ดูแลใหญ่เป็นพิเศษกว่านักเรียนคนอื่นๆ ครูกรีนนอนตี 1 ทุกวัน เพราะใช้เวลาคุยกับผู้ปกครอง วางแผนการสอน ทำความรู้จักผู้เรียน ครูกรีนรู้ว่าใครหลับคนสุดท้ายของห้อง แต่ละคนชอบกินอะไร แฟนคนแรกคือใคร ที่บ้านสนิทกับใครที่สุด พ่อแม่มองลูกตัวเองเป็นแบบไหน ครูกรีนไม่ได้ทำงานแค่ที่โรงเรียน แต่พยายามพูดคุยกับผู้ปกครองเสมอเพื่อร่วมกันพัฒนานักเรียน

“เขาสอนเป็นกันเอง ไม่เครียด ก่อนหน้าเจอเขา หมดทุกอาจารย์อ่ะ ..เละหมดเลย ไม่เรียนเลย นั่งเล่น แกล้งเพื่อน แต่พอครูกรีนเข้ามา คาบเรียนมันสนุกไม่ต้องไปแกล้งเพื่อนละ ตอนแรกคิดว่าจะแกล้งเขายังไงดี แต่เห็นเขาสอนดี ผมก็เลยตั้งใจเรียนวิชาเขาไปเลย ทั้งๆที่ไม่เคยชอบวิทย์มาก่อน” ใหญ่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตัวเองจากการเรียนวิทยาศาสตร์กับครูกรีน

เราไม่ได้เจาะจงเปลี่ยนใครทั้งนั้น เพราะพวกเขามีสิ่งที่ดีอยู่แล้ว เราแค่ปรับโครงสร้างของสภาพแวดล้อมใหม่ให้เขามีโอกาสแสดงสิ่งที่ดีเหล่านั้นออกมา และในขณะดียวกันก็ใช้โครงสร้างนี้แหละปิดกั้นสิ่งที่เราไม่ปรารถนาให้เขาแสดงออกที่อาจมีผลกระทบต่อเพื่อนๆ หรือสิ่งแวดล้อมที่อยู่” ครูกรีนกล่าว

สิ่งสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ แน่นอนว่าต้องเริ่มจากตัวของใหญ่เองก่อน ใหญ่เล่าว่าเหตุผลที่ทำให้เขาอยากเปลี่ยน คือ หลายคนสำคัญในชีวิต ทั้งครอบครัว แฟน และมีครูกรีนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เขาอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นคนที่ดีขึ้น สิ่งหนึ่งที่เราเห็นจากการกระทำของครูกรีน คือ ความใส่ใจและพยายามเปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้นักเรียนนำแสงสว่างที่มีอยู่ในตัวเองออกมาให้ได้มากที่สุด 

นักเรียนที่เคยถูกมองว่าเป็นตัวปัญหาและเสี่ยงที่จะออกจากระบบการศึกษากลางคัน กลายเป็นคนที่มีเป้าหมายในการเรียนมากยิ่งขึ้น  ใหญ่ไปตามแก้ 0 แก้ ร จนเรียนจบ ม.3  ซึ่งปัจจุบัน ใหญ่ยังคงเรียนต่อ ม.4 ในสายทวิศึกษา 

หากไม่มีการเรียนรู้จากครูในวันนั้น เราอาจจะไม่ได้เห็นใหญ่ที่ยังคงเรียนต่อในวันนี้ ดังนั้น สิ่งที่ครูทำในห้องเรียนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเปลี่ยนอนาคตของนักเรียนคนหนึ่งได้

ขอขอบคุณเรื่องราวสนุกๆ ที่แฝงไปด้วยแรงบันดาลใจจาก ‘ใหญ่’ และ ‘ครูกรีน กรีนฐิณญาภัทร์ ลาเตะ’ คุณครูในโครงการครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง Teach For Thailand

#ร้อยพลังการศึกษาX@TeachForThailand