ต่างชนเผ่าแต่เราสามัคคี

ณ โรงเรียนห้วยน้ำขุ่นวิทยา จ.เชียงราย เด็กๆ ที่มาจากต่างชนเผ่า ทั้งจีนยูนนาน อาข่า อาเข่อ ลาหู่ มักจะยกพวกตีกันเป็นประจำ ผอ.กับคุณครูจึงช่วยกันคิดว่า จะทำยังไงให้เด็กนักเรียนของเราเกิดความสามัคคีกัน?

หลังจากการปรึกษาหารือระหว่างผอ.และคณะครู  ทาง โรงเรียนห้วยน้ำขุ่นวิทยา จึงคิดนำหลักลูกเสือ ซึ่งสอดแทรกการสร้างคุณธรรมด้านระเบียบวินัยให้กับนักเรียนก่อน  

ในช่วงแรก การฝึกระเบียบแถวให้นักเรียนไม่ใช่ว่าจะเริ่มฝึกนักเรียนได้เลย  แต่เป็นการพัฒนาครูทั้งโรงเรียนให้มีความรู้ โดยครูทุกคนเข้ารับการฝึกอบรมการเป็นผู้บังคับบัญชาลูกเสือครูจึงนำทักษะความรู้มาขยายผลสู่นักเรียน ให้นักเรียนฝึกระเบียบแถวเมื่อนักเรียนมีเป้าหมายเดียวกัน ได้พยายามร่วมกัน จากความรู้สึกแบ่งพรรคแบ่งพวกว่าเราแตกต่างกันทางวัฒนธรรม กลายมาเป็นความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและรู้สึกถึงความเป็นเพื่อน

“การที่เด็กได้อยู่ด้วยกัน ซ้อมด้วยกัน ทำให้เขาเป็นเพื่อนกัน”

การฝึกระเบียบแถวของห้วยน้ำขุ่น ไม่ได้หยุดเพียงแค่ในโรงเรียนแต่ขยายผลไปยังการแข่งขัน
ระดับจังหวัด
ระดับภาค
ระดับประเทศ 

จนได้รับรางวัลระดับจังหวัง 6 ปีซ้อน และได้รางวัลชนะเลิศระดับประเทศ เมื่อปี 61
จนได้รับรางวัลระดับจังหวัด 6 ปีซ้อน และได้รางวัลชนะเลิศระดับประเทศ เมื่อปี 61 

ไม่เพียงแต่การใช้หลักการลูกเสือพัฒนาคุณธรรมให้นักเรียนแล้วยังมีโครงงานครูต้นแบบ ที่ใช้กระบวนการยอมรับ การร่วมตกลงจากคุณครูทุกคน 

เมื่อก่อนบริบทครูบนดอย เย็นมาก็ดื่มสังสรรค์กัน เพราะอยู่บ้านพักครูด้วยกันตลอดจันทร์-ศุกร์ซึ่งก็มีนักเรียนบางส่วนพักอยู่ในโรงเรียน แต่พอโรงเรียนนำเรื่อง โครงการโรงเรียนคุณธรรม เข้ามาใช้ ครูจึงตกลงกันว่า
“เราจะไม่ดื่มแอลกอฮอล์ในสถานศึกษา”
พอไม่ดื่ม ก็ไม่ดื่มกันทั้งโรงเรียน และเกิดโครงงานครูต้นแบบ แต่งกายเรียบร้อย อุทิศตนให้งานราชการ และไม่ดื่มแอลกอฮอล์  แน่นอนว่าแบบอย่างที่ดี ดีกว่าคำสอน การแต่งกายที่ทั้งผอ. และครูทำให้ดูเป็นแบบอย่าง จึงทำให้นักเรียนแต่งกายเป็นระเบียบนอกจากนั้น สิ่งที่หลายๆ คนเซอร์ไพรส์ คือ นักเรียนโรงเรียนห้วยน้ำขุ่นแม้ว่าพวกเขาจะพูดภาษาไทยไม่ชัด แต่เวลาเขาไปทำกิจกรรมกับเพื่อนต่างโรงเรียน เขากลับไม่เขินอาย กล้าคิด กล้าทำ กล้านำเสนอ 

สุดท้ายแล้ว บรรยากาศของโรงเรียนห้วยน้ำขุ่นวิทยาที่อยู่ร่วมกันบนความแตกต่างทางวัฒนธรรมมีหลายกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขภายใต้การเป็นโรงเรียนคุณธรรม เพราะโรงเรียนคุณธรรม ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นศาสนาพุทธเพียงอย่างเดียว แต่คุณธรรมคือ ความดีงามที่ถูกปลูกฝังขึ้นในจิตใจจนเกิดจิตสำนึกที่ดี ที่แม้แต่การจัดระเบียบแถว ความสามัคคี การเป็นต้นแบบที่ดี ก็คือหลักคุณธรรม ซึ่งต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกคนในโรงเรียน

ขอขอบคุณเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจจากท่านผู้อำนวยการสนิท นันทชัย ผู้อำนวยการโรงเรียนห้วยน้ำขุ่นวิทยา 

#โรงเรียนคุณธรรม