‘เก้า’ นักเรียนชั้น ม.3 ผู้ชื่นชอบการเตะฟุตบอล
แต่สิ่งที่เก้าชอบมากกว่าคือการนั่งมองไปที่สนาม เห็นเพื่อนๆแข่งบอลแล้วคิดว่าจะทำยังไงให้ทีมชนะ เก้าชอบมองภาพว่าเพื่อนวิ่งจากจุดนี้ไปอีกจุดใช้เวลาประมาณเท่าไหร่ ในหัวของเก้าก็มักจะคาดคะเนคร่าวๆ
แต่เวลาอยู่ในห้องเรียน ตัวหนังสือบนกระดานกลับเป็นอุปสรรคเสียเหลือเกิน เก้าต้องใช้เวลาในการมองตัวอักษร ประสมสระในหัว เพราะแม้จะเป็นตัวอักษรแต่เก้ามองเป็นภาพมากกว่า ทำให้เวลาเรียนเก้าใช้วิธีการอ่านปากครูเวลาที่ครูอธิบายแทน ซึ่งทำให้เวลาที่ครูพูดเร็ว เก้ายิ่งเข้าใจสิ่งต่างๆได้ยากขึ้นไปอีก
คุณครูหลายท่านจึงเป็นห่วงในเรื่องการเรียนรู้ของเก้าที่ช้ากว่าเพื่อนๆ โดยเฉพาะการอ่าน การเขียน
“ไม่ใช่ทุกคนที่จะเก่งไปเสียทุกเรื่อง ทำได้ดีไปเสียทุกอย่าง แต่ว่ามันต้องมีสักเรื่องที่เราเก่งแหละ”
คำพูดให้กำลังใจจากครูพลับ แม้จะมีบางเวลาที่รู้สึกว่ายากลำบากในการเรียนหนังสือ แต่เก้าเชื่อในสิ่งที่ครูพลับบอกว่า มันต้องมีสักเรื่องสินะที่เราเก่ง
เก้าเริ่มค้นพบว่าเขาชอบเรียนคณิตศาสตร์ โดยเฉพาะเรื่องแบบรูป แผนภูมิต้นไม้ คุณพ่อของเก้าก็คอยสนับสนุนและกระตุ้นให้เก้าทำแบบฝึกหัดมาล่วงหน้า แต่เวลาคุณครูเฉลยหรือแสดงวิธีทำบนกระดาน ก็ยังคงเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับเก้ามาก เมื่อใดก็ตามที่ครูพูดอธิบายโดยไม่เขียนบนกระดานไปด้วยจะยิ่งทำให้เก้า ‘เรียนตามไม่ทัน’
จนกระทั่ง คุณครูพลับได้นำโปรแกรม “Learn Education” เข้ามาใช้ในคาบเรียนคณิตศาสตร์ เก้าเริ่มเข้าใจคณิตศาสตร์มากขึ้น เพราะในโปรแกรมมีตัวอย่างภาพ และเขียนแสดงวิธีทำอย่างละเอียดแบบที่เก้าสามารถกดหยุดดู กดย้อนหลัง และจดตามได้ อีกทั้งช่วยเอื้อให้เก้าจดจ่อกับการเรียนคณิตศาสตร์ได้มากยิ่งขึ้น
ครูพลับยังกระตุ้นให้นักเรียนทุกคนในห้องทำแบบฝึกหัดมาล่วงหน้า ข้อไหนทำได้ทำมาก่อนได้เลยโดยไม่ต้องรอครูสั่ง แต่ถ้าเรื่องไหนยังทำไม่ได้ ครูก็จะอธิบายในห้องเรียนพร้อมๆกัน
ทั้งแรงกระตุ้นจากคุณพ่อ คุณครู มีเครื่องมือเข้ามาช่วย ประกอบกับความขยันและความพยายามของตัวเก้าเอง เก้าลองทำแบบฝึกหัดมาล่วงหน้าโดยเป็นเรื่องที่ครูยังไม่ได้สอน
ผลปรากฏว่า…
“เก้าทำมาได้ยังไง” ครูพลับถาม
“ผมทำเองครับ” เก้าตอบ
พอครูพลับไปดูแบบฝึกหัดปรากฏว่าเก้าทำเองจริงๆ และ ทำถูกหมดทุกข้อในขณะที่เด็กเก่งๆของห้องต้องฟังคำอธิบายหลายรอบกว่าจะเข้าใจ จากที่เคยเรียนผ่านการอ่านปากของครูกลายมาเป็นการทำความเข้าใจจากการเห็นวิธีทำ เห็นตัวอย่างที่เป็นภาพ และลองลงมือทำแบบฝึกหัดด้วยตนเอง จะเห็นได้ว่านักเรียนบางคนที่อาจจะมีการเรียนรู้ช้าในบางวิชา แต่พวกเขาสามารถพัฒนาได้ เพียงแต่เราจะหาวิธีพัฒนาการเรียนรู้อย่างไรให้เหมาะสมกับพวกเขา
เด็ก ๆ มีสไตล์ (Style) การเรียนรู้ที่แตกต่างหลากหลายขึ้นอยู่กับว่าคุณครูและผู้ปกครองจะปรับการเรียนรู้ให้เหมาะกับพวกเขาได้อย่างไร
ขอขอบคุณเรื่องราวจากน้องเก้า นักเรียนชั้น ม.3, คุณครูเอกปภาดา ปกรณ์พิมุข (ครูพลับ)
#SchoolToolsxLearnEducation
#ร้อยพลังการศึกษาXLearnCorp