เด็กน้อย ครูไม่พอ โรงเรียนห่างไกล ใครจะไปเรียน?

เมื่อปี 2558  ณ โรงเรียนวังข่อยพิทยา จ.นครสวรรค์ โรงเรียนที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘โรงเรียนมัธยมประจำตำบล’ แต่มีนักเรียน ม.1 – ม.6 เพียงร้อยกว่าคนครูที่นี่ อยู่กันปี สองปี ก็ย้ายกลับบ้านต่างจังหวัด (เนื่องจากนโยบายขณะนั้น อนุญาตให้ครูบรรจุใหม่ที่อยู่ครบ 2 ปี สามารถย้ายกลับภูมิลำเนาเดิมได้) ครูที่ยังสอนอยู่ ไม่ได้สอนตามเอกที่เรียนมา เช่น เป็นครูชีววิทยาแต่ต้องไปสอนคณิตศาสตร์เพราะครูไม่พอ

“เรียนไปทำไม”
“ทำไมต้องมาเรียนที่นี่”

ท่ามกลางความสงสัยของเด็กและผู้ใหญ่บางคนที่ยังไม่ได้เห็นความสำคัญของการศึกษา หรือบางคนเห็นความสำคัญของการศึกษาแต่เลือกที่จะไปเรียนในเมืองมากกว่าด้วยบริบทที่ท้าทายเหล่านี้ จุดประกายให้ ผอ.รังสิวุฒิ พยายามหาทางที่จะพัฒนาโรงเรียนไม่ว่าจะมีเวทีไหนของชุมชน ผอ.ก็จะไปพูดเรื่องการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและทำให้คนในชุมชนเห็นความสำคัญของการศึกษ จนกระทั่ง ผอ.รังสิวุฒิไปประชุมผู้บริหาร 

“รู้จักโครงการร้อยพลังการศึกษาไหม?”
“มันคืออะไรครับ”
“เขามีเครื่องมือทางการศึกษาให้โรงเรียนเอาไปใช้”

ตอนนั้น ผอ.รังสิวุฒิสนใจอยากรู้จักโครงการร้อยพลังการศึกษาจึงไปหาข้อมูลและทำหนังสือขอเข้าร่วมโครงการฯ  แม้ว่าตอนนั้น ยังมีผอ.โรงเรียนอื่นๆ ไม่เข้าร่วม แต่ผอ.รังสิวุฒิไม่ลังเล เพราะคิดว่าเป็นการเปิดโอกาสให้กับนักเรียนได้เรียนรู้ในรูปแบบใหม่ๆ

เครื่องมือแรกที่โรงเรียนวังข่อยพิทยานำมาใช้ คือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์สอนคณิตศาสตร์ที่ชื่อว่า เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น (Learn Education) แต่โรงเรียนไม่มีคอมพิวเตอร์เพียงพอสำหรับนักเรียนหนึ่งห้อง และไม่มีงบประมาณที่จะจัดซื้อได้ผอ.รังสิวุฒิจึงปรึกษากับทีมงานโครงการร้อยพลังการศึกษาว่าจะทำยังไงได้บ้างทีมงานได้ประสานงานจัดหาคอมพิวเตอร์มือสองมาให้ จนนักเรียนได้ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เรียนคณิตศาสตร์เป็นครั้งแรก ดูเหมือนว่าทุกอย่างเริ่มราบรื่น ทว่า…

“ใช้โปรแกรมสอนจะดีกว่าคนสอนได้ไง”

ความท้าทายยิ่งกว่าการหาคอมฯ มาให้นักเรียน คือ จะทำอย่างไรให้ครูเปิดใจ ผอ.รังสิวุฒิน้อมนำศาสตร์พระราชา โดยใช้หลักการ ‘ระเบิดจากภายใน’ ถ้าจะให้ใครทำสิ่งใดก็ตามต้องมาจากความต้องการของบุคคลนั้นเสียก่อน 

ผอ.รังสิวุฒิทำให้คุณครูเห็นว่า เป้าหมายสูงสุดของครูทุกคนย่อมอยากให้ลูกศิษย์ได้ดีทั้งนั้น  แต่เราต้องหาโอกาสและทางเลือกดีๆ ให้กับลูกศิษย์  ดังนั้น การนำเครื่องมือใหม่ๆ เข้ามาใช้ในการจัดการเรียนรู้จะเป็นการเพิ่มโอกาสและสร้างทางเลือกให้กับเด็ก

แม้ว่าคุณครูจะเปิดใจและลองนำเครื่องมือมาใช้ในห้องเรียน แต่ในช่วงแรกคุณครูก็ต้องปรับตัว เพราะความไม่เคยชินกับการใช้โปรแกรม และต้องหาวิธีการบูรณาการให้เหมาะสม ไม่ใช่ว่าเครื่องมือเข้ามาแทนที่ครู แต่ครูจะนำเครื่องมือเหล่านี้มาเป็นตัวช่วยได้อย่างไร 

สิ่งที่น่ารักของโรงเรียนวังข่อยพิทยา คือ ทั้งผู้อำนวยการและคุณครูมาประชุมกัน ช่วยกันหาทางแก้ปัญหาและปรับใช้เครื่องมือที่ได้มาให้เหมาะกับผู้เรียน

เมื่อการพัฒนาวิชาแรกเริ่มเข้าที่ ก็มีวิชาที่ 2 ตามมา นั่นคือ ภาษาอังกฤษ! คุณครูที่นี่สอนภาษาอังกฤษด้วยภาษาไทย ทำให้นักเรียนไม่ได้ฝึกการใช้ภาษาอังกฤษ หากจะไปจ้างครูชาวต่างชาติมาสอนก็ไม่มีงบ โรงเรียนจึงนำอีกเครื่องมือมาใช้ นั่นคือ โปรแกรม “วินเนอร์อิงลิช (Winner English)” คราวนี้ล่ะ นักเรียนได้ฝึกทั้ง ‘ฟัง’ สำเนียงเจ้าของภาษา ‘พูด’ โต้ตอบกับโปรแกรม  ‘อ่าน’ บทความ และ ‘เขียน’ ผ่านการพิมพ์ โดยในโปรแกรมมีทั้งภาพและเสียงที่ดึงดูดความสนใจนักเรียนแม้ว่าเครื่องมือช่วยสอนเหล่านี้ จะช่วยโรงเรียนให้จัดการเรียนการสอนได้ดีขึ้น แต่ปัญหา ‘ครูไม่พอ’ ที่มีมาแต่ไหนแต่ไรก็ยังอยู่!  

เนื่องจากโครงการร้อยพลังการศึกษา ทำงานร่วมกับ มูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ (Teach For Thailand) ด้วย จึงได้ส่งคุณครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง เข้าไปช่วยสอนที่โรงเรียนวังข่อยพิทยาอีก 3 ท่าน เพื่อช่วยสอนใน 3 วิชาหลักอย่างวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ 

ขณะที่คุณครูท่านอื่นในโรงเรียนก็ให้ความสนใจกับการแสวงหากระบวนการจัดการเรียนรู้และเครื่องมืออื่นๆ มาใช้กับนักเรียน เช่น มีคุณครูเข้าร่วมโครงการครูแนะแนวรุ่นใหม่สร้างเด็กไทยให้ออกแบบชีวิตตนเองได้ (a-chieve) เพื่อเรียนรู้กระบวนการที่เป็นเครื่องมือสื่อสารระหว่างครู นักเรียน และผู้ปกครอง ต่อยอดให้นักเรียนหาจุดอ่อน จุดแข็งและนำไปสู่การตั้งเป้าหมายชีวิตของนักเรียน

นอกจากนั้น ยังมี โครงการโรงเรียนคุณธรรม และ โครงการวัยรุ่นอุ่นใจ ที่ให้นักเรียนได้ร่วมกันออกแบบโครงงานที่ช่วยกันแก้ไขปัญหาภายในโรงเรียน

ดูเหมือนว่าการเรียนการสอนในโรงเรียนกำลังพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง แต่คงน่าเสียดายหากโรงเรียนไม่มีเด็กๆ มาให้พัฒนา เพราะเด็กอีกหลายคน ‘ไม่มีเงินจะมาโรงเรียน’ โรงเรียนวังข่อยพิทยาจึงได้ทำเรื่องขอ “ทุนยุวพัฒน์” เพื่อให้นักเรียนได้ทุนการศึกษาต่อเนื่องตั้งแต่ ม.1 จนจบ ม.6  

“ตอนนี้ชุมชนให้ความไว้วางใจเรามากขึ้น จากการที่เขาส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนกับเราเพิ่มขึ้น  ถึงแม้ว่าโรงเรียนเราจะเล็ก แต่คุณครูทุกคนพร้อมที่จะเปิดรับสิ่งใหม่ๆ และพยายามช่วยสนับสนุนกัน” ครูอัญชลีกล่าว

จากเมื่อก่อนมีนักเรียนเพียงร้อยกว่าคน ตอนนี้โรงเรียนวังข่อยฯ มีนักเรียนประมาณ 200 กว่าคน จำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่ผู้ปกครองและคนในชุมชนให้ความเชื่อมั่นกับโรงเรียนแห่งนี้  

การนำทุกเครื่องมือเข้ามาใช้ในโรงเรียนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นความร่วมมือร่วมใจของทั้งผู้บริหาร  คุณครู และภาคีเครือข่ายทางการศึกษา โดยทุกฝ่ายต่างมีเป้าหมายเดียวกันคือ การพัฒนานักเรียน ดังนั้น การจะสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาสิ่งใดก็ตามจากการรวมหลายพลังเป็นหนึ่งย่อมมีกำลังมากกว่าการเดินไปเพียงลำพัง แม้ว่าโรงเรียนวังข่อยพิทยาจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก แต่ที่นี่ได้พิสูจน์แล้วว่าการทำสิ่งยิ่งใหญ่ไม่ได้อยู่ไซส์ แต่อยู่ที่ใจของทุกคนที่มาร่วมมือกันเสียมากกว่า

 

ขอขอบพระคุณเรื่องราวดีๆ จากท่านผู้อำนวยการรังสิวุฒิ พุ่มเกิดและคุณครูอัญชลี ระดมแสง โรงเรียนวังข่อยพิทยา จ.นครสวรรค์

 

#SchoolToolsxร้อยพลังการศึกษา