ลาออกจาก ‘โรงแรม’ แล้วเบนเข็มมาสู่ ‘โรงเรียน’
ครูเมย์ จบการท่องเที่ยวและโรงแรม ทำงานอยู่โรงแรมกว่า 8 ปี แต่ในระหว่างนั้น ครูเมย์เคยเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัย ทำให้เธอมีความสุขที่ได้เห็นนักศึกษามีเป้าหมายในชีวิต นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ครูเมย์ตัดสินใจลาออกมาเป็นครูในโรงเรียนเอกชน
แต่เรื่องราวการเป็นครูไม่ง่ายเลย ครูเมย์ไปสอนแต่คุมชั้นเรียนไม่ได้ จนถูกผู้ใหญ่ต่อว่า…
“ครูเมย์รู้ไหมครับ ครูเมย์เป็นครูที่แย่ที่สุดในโรงเรียนเลย”
“ฉันยังสามารถทำอาชีพครูได้ไหม?”
เสียงก้องขึ้นในใจ
การขาดประสบการณ์ ไม่มีอาวุธอะไรเลย ทำให้ครูเมย์ตัดสินใจหาวิธีติดอาวุธให้กับตัวเอง โดยการพาตัวเองไปอบรม Workshop ตามที่ต่าง ๆ และตัดสินใจเข้าร่วมโครงการทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ (Teach for Thailand)
ทว่า การมาเป็นครูทีชฟอร์ไทยแลนด์ในโรงเรียนมัธยมขยายโอกาส กลับยิ่งเพิ่มความท้าทาย
เมื่อครูเมย์เข้าไปในโรงเรียนแบบที่ความตั้งใจเต็มเปี่ยม มีร้อยให้ร้อย ด้วยความเชื่อและความหวังที่อยากให้นักเรียนพัฒนาศักยภาพอย่างเต็มที่ ครูเมย์นอนตี 1 ตี 2 ตื่นแต่เช้า ลากกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ที่ข้างในใส่สื่อการสอนไว้ คล้ายจะเดินทาง (จนครูพี่เลี้ยงยังถามว่าจะไปไหน) มาโรงเรียนทุกวัน เพราะครูเมย์ตั้งใจอยากจะนำสิ่งที่ดีที่สุดให้นักเรียน โดยที่ครูเมย์ลืมสังเกตไปเลยว่าความมุ่งมั่นของครูเกินร้อย แต่..ของนักเรียนล่ะ??
ความสวนทางระหว่าง ‘ความตั้งใจของครู’ กับ ‘ความร่วมมือของนักเรียน’ ทำให้ครูเมย์คิดว่า ‘อาวุธ’ ในตัวเองยังไม่เพียงพอ จึงพาตัวเองไปเข้าร่วมอีกโครงการหนึ่งที่เปลี่ยนมุมมองความคิดและทัศนคติของเธอ
“โครงการครูแนะแนวรุ่นใหม่สร้างเด็กไทยให้ออกแบบชีวิตตนเองได้”
ครูเมย์ร่วมกิจกรรมสวมบทบาทสมมติ (role play) ที่ครูกลุ่มหนึ่งใช้อำนาจเหนือกว่ากับนักเรียน และนั่นทำให้ครูเมย์เห็นว่าที่ผ่านมาเธอใช้ “อำนาจเหนือกว่า*” กับนักเรียนมาโดยตลอด
จึงเป็นเหตุว่าทำไมหลาย ๆ ครั้ง ที่ครูให้ทำอะไร แต่นักเรียนไม่อยากทำเพราะเขารู้สึกว่าเขากำลังถูกบังคับ หรือทำ ก็แค่ทำส่ง ๆ เพราะมันไม่ได้มาจากตัวนักเรียนเอง
สิ่งที่ครูเมย์ได้เรียนรู้ คือ อำนาจไม่ได้มีแต่อำนาจเหนือกว่าเพียงรูปแบบเดียว แต่ครูสามารถใช้ “อำนาจร่วม**” ได้
หลังจากผ่านการอบรมโครงการครูแนะแนวรุ่นใหม่ที่ทีมงานอาชีฟ (a-chieve) จัด
ครูเมย์จึงลองปรับเปลี่ยนวิธีการสอนจากการใช้ ‘อำนาจเหนือกว่า’ กลายเป็นการใช้ ‘อำนาจร่วม’ ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็นและหาข้อตกลงร่วมกันระหว่างครูกับนักเรียน รับฟังนักเรียนมากขึ้น ถามความต้องการนักเรียนมากขึ้น กลายเป็นอำนาจเหนือกว่าลดลงและถูกแทนที่ด้วยการใช้อำนาจร่วมระหว่างครูและนักเรียน
“เด็กกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตอบคำถาม การมีส่วนร่วมในชั้นเรียน ไม่ใช่ว่าครูจะต้องเป็นคนสั่ง เคยเจอเหตุการณ์หนึ่งที่เราคิดไม่ถึง แต่เด็กมาเสนอทางเลือกให้เรา อย่างเช่น มีอยู่คาบหนึ่งครูต้องสอน แต่นักเรียนถูกมอบหมายงานให้ไปช่วยงานวัด ในหัวเราตอนนั้นคือเป็นช่วงเวลาที่ใกล้จะสอบแล้ว กลัวว่านักเรียนจะเรียนเนื้อหาไม่ทัน แต่จะไม่ไปช่วยงานจิตอาสาก็ไม่ได้
เด็กก็น่ารักมาก บอกว่า
‘ครูเมย์คนละครึ่งทางละกัน เอ่อ เดี๋ยวครึ่งชั่วโมงแรกพวกผมสอบกับครูเมย์ก่อน แล้วเดี๋ยวอีกครึ่งชั่วโมงผมไปช่วยงานวัด’
คือมันเกิดมาจากเด็กเองที่เขาตัดสินใจ โดยที่เราคิดไม่ถึง
นี่แหละคือบรรยากาศที่เราอยากเห็น มันเกิด ‘อำนาจร่วม’ เราสามารถเห็นพื้นที่ของเด็กที่ดึงให้เขามีตัวตนมากขึ้น” ครูเมย์เล่าไปอมยิ้มไปเมื่อนึกถึงเหตุการณ์ในวันนั้น
การใช้อำนาจร่วม ไม่ได้หมายความว่าให้ครูยอมนักเรียน แต่เป็นการสื่อสารกับนักเรียนมากขึ้น รับฟังเพื่อร่วมกันตัดสินใจ ซึ่งการทำแบบนี้จะทำให้นักเรียนรู้สึกว่าเขามีตัวตน เขาสามารถส่งเสียงของเขาออกมาได้ว่าเขาคิดเห็นแบบนี้ และนำไปสู่ ‘การเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตนเอง’
ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า “การเปลี่ยนแปลงภายในตัวครู” ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของนักเรียนและห้องเรียนตามเป้าหมายหลักของอาชีฟ (a-chieve) ที่สร้างครูรุ่นใหม่ให้มีทัศนคติและวิธีการสอนที่เปิดรับความหลากหลาย สนับสนุนการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน เพื่อให้ครูสามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียนและรู้เท่าทันตนเองในเรื่องการใช้อำนาจต่อนักเรียน
หลักการดังกล่าว ไม่จำเป็นต้องใช้เพียงแค่ในคาบแนะแนว แต่คุณครูสามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกรายวิชาเหมือนกับครูเมย์ที่เป็นครูสอนภาษาอังกฤษแต่ปรับใช้วิธีการจากการอบรมครูแนะแนวรุ่นใหม่ เรามาดูความคิดเห็นจากตัวแทนนักเรียนและครูพี่เลี้ยงที่พูดถึงครูเมย์กันค่ะ
…..“ตอนแรกผมไม่เข้าใจภาษาอังกฤษเลย แต่พอได้เรียนกับครูเมย์ ก็เริ่มพูดภาษาอังกฤษได้ดีขึ้นกว่าเดิม เพราะปกติผมไม่ค่อยกล้าถามครู แต่กับครูเมย์ผมกล้าถาม” น้องเพรา นักเรียนชั้น ม.3
…..“ครูเมย์เขาเป็นครูที่มีทัศนคติเชิงบวก เวลาเด็กมีปัญหาก็จะมาหาครูเมย์ หรือเวลาที่เราเห็นครูเมย์ทำงานทำสื่อการสอนแล้วมันทำให้เราอยากทำสื่อบ้าง เขาก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับเรา” คุณครูวันดี โชคสมกิจ (ครูพี่เลี้ยงของครูเมย์)
จากครูที่เคยถูกตำหนิเรื่องการคุมชั้นเรียนไม่ได้ การสอนก็ค่อนข้างตึงเครียดเพราะใช้อำนาจเหนือกว่า และกลายมาเป็นครูเมย์ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงในวันนี้ ไม่ใช่การเดินทางที่ง่ายเลย ทุกอย่างแลกมาด้วยเวลา ความมุ่งมั่น ทุ่มเท และไม่ลืมวันแรกที่คิดว่า ‘ทำไมถึงมาเป็นครู’
แม้อุปสรรค ความเหน็ดเหนื่อยจะถาโถมเข้ามา แต่เป้าหมายหลักที่อยากเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันนักเรียนให้ประสบความสำเร็จยังคงอยู่ ถ้าครูเมย์ลืมสิ่งเหล่านี้ไป เธออาจจะไม่ได้พาตัวเองไปอบรมตามที่ต่าง ๆ และคงไม่กลายมาเป็นครูเมย์ที่เด็ก ๆ อยากเรียนด้วยและสร้างแรงบันดาลใจให้กับเพื่อนครูได้อีกมากมาย
เรายังมีเรื่องราวของคุณครู นักเรียน และการใช้เครื่องมือทางการศึกษาที่น่าสนใจอีกหลายเรื่องมาบอกเล่าผ่านการเดินทางลงไปสัมภาษณ์ตามโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ติดตามกันได้ที่ #SchoolToolsxSchoolTour เรื่องราวเครื่องมือร้อยพลังการศึกษา insight จากโรงเรียน
ขอขอบคุณเรื่องราวจาก คุณครูสุวรัตน์ บุญยะรัตพันธ์ (ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงโครงการทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ และข้อมูลจากทีมอาชีฟ (a-chieve) #ร้อยพลังการศึกษา #TCFEImpactStories #โครงการครูแนะแนวรุ่นใหม่ #achieve #สร้างเด็กไทยให้ออกแบบชีวิตตนเองได้
ข้อมูลเพิ่มเติม :
*อํานาจเหนือกว่า (Power Over) เป็นรูปแบบของอำนาจที่ความสัมพันธ์ฝั่งหนึ่งไม่เท่ากับอีกฝั่งหนึ่ง เช่น การใช้ระดับการศึกษา ตําแหน่งหน้าที่ ประสบการณ์ ความรู้ ฯลฯ ไปสั่ง ควบคุม ตัดสินใจแทน ตีตรา
**อำนาจร่วม (Power Sharing/ Shared Power) คือ รูปแบบของอำนาจที่อยู่บนความสัมพันธ์พื้นฐานที่เท่ากัน เพื่อช่วยเหลือ เกื้อกูล สนับสนุน ตัดสินใจร่วมกัน)