จากมือถือมีปุ่มเปลี่ยนมาใช้มือถือไร้ปุ่มกด ตอนที่หลายคนใช้ครั้งแรก อาจรู้สึกว่ามันยาก ความยากนั้นคงเป็นเพราะเรา “ไม่เคยชิน” กับการใช้งาน ทุกครั้งที่เริ่มอะไรใหม่ ๆ เรามักจะรู้สึกว่า ‘มันยาก ’ แต่ถ้ามองให้ลึกลงไป ในความยากนั้นกำลังส่งสัญญาณบอกว่าเรากำลัง ‘พัฒนา’ อยู่ เช่นเดียวกับการพูดภาษาอังกฤษ คนที่พูดคล่องตอนนี้ คือ คนที่เคยผ่านจุดที่รู้สึกว่ามันยากมาก่อนด้วยการฝึกฝนหรือสร้างความเคยชินกับมัน ทำให้การพูดภาษาอังกฤษกลายเป็นทักษะติดตัว
แต่จะทำอย่างไรให้เด็กไทยก้าวผ่านขั้นแรกที่ว่า ‘มันยาก’ ไปได้?
“ผมโง่ครู”
“หนูอ่านไม่ออก”
“ใครจะไปทำได้”
กรอบความคิด (Mindset) เหล่านี้ที่ฝังอยู่ทำให้เด็ก ๆ เลือกที่จะหนีด้วยการไม่ยอมพูด ไม่ยอมอ่าน ไม่ยอมเปิดใจกับภาษาอังกฤษ ครูดีจัง ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงในโครงการทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ (Teach For Thailand) คิดว่าต้องมาปรับแนวความคิดตรงนี้กันก่อน เธอจึงมองหาตัวช่วยที่ทำให้คาบภาษาอังกฤษกลายเป็นเรื่อง ‘สนุก’
ผู้ช่วยของครูดีจัง มาในรูปของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีชื่อว่า‘วินเนอร์อิงลิช (Winner English)’ เป็นโปรแกรมสอนภาษาอังกฤษที่รูปร่างหน้าตาคล้ายกับการเล่นเกมที่ให้เด็ก ๆ ได้ฝึกฝนทักษะ ฟัง พูด อ่าน เขียน ผ่านภาพ ตัวอักษร ตัวการ์ตูนและเสียงพูดภาษาอังกฤษจากเจ้าของภาษาที่ให้เด็ก ๆ ฝึกพูดตามและโต้ตอบกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้
เมื่อถึงคาบเรียนภาษาอังกฤษ เด็ก ๆ กุลีกุจอรีบมาเรียนที่ห้องคอมฯ ด้วยความตื่นเต้นที่จะได้ใช้คอมพิวเตอร์ แต่พอใช้งานจริงผลปรากฏว่าพวกเขากลัวที่จะต้องพูดภาษาอังกฤษออกมา
ครูดีจังจึงสร้างข้อตกลงร่วมกับนักเรียนโดยในแต่ละคาบ นักเรียนต้องเรียนถึงเลเวล (level) ที่ครูกำหนดคล้ายการเล่นเกมแข่งกันในห้อง ใครทำถึงเลเวลที่กำหนดจะมีคะแนนให้ ส่วนการเก็บคะแนนและดูพัฒนาการของนักเรียน ครูดีจังสามารถดูผลได้ในโปรแกรมวินเนอร์อิงลิช
มาถึงส่วนของการฝึกพูด (Speaking) นักเรียนบางคนไม่ยอมพูดโต้ตอบกับครู เพราะอายเพื่อนในห้อง ครูดีจังจึงให้เริ่มฝึกจากการสนทนาโต้ตอบกับโปรแกรมวินเนอร์อิงลิชดูก่อน ผลปรากฏว่ารอบแรกนักเรียนพูดไม่ผ่าน
เอาใหม่!
ลองพูดกันอีกที
สองที
สามที
…
บางคน พูดไปเกือบ 10 ทีก็ยังไม่ผ่าน
“ทำไมมันยากจังอ่ะ”
“ไม่ทำได้ไหม ไม่อยากทำ”
“พูดหลายรอบแล้วนะครู ทำไมไม่ผ่านสักที”
“โห ประโยคมันยาวขนาดนี้ ใครจะไปจำได้”
เสียงบ่นระงมของเด็ก ๆ ทั่วห้องไม่อยากทำแล้ว ตอนแรกก็สนุกดีหรอก มีตัวการ์ตูน มีภาพเหมือนจะง่าย แต่พอมาถึงด่านนี้ที่ต้องใช้ความพยายามมากกว่าเดิมมันก็รู้สึกว่าไปต่อไม่ได้
“ให้พูดซ้ำ ๆ อยู่นั่นแหละ”
“เห้ย! อย่าเสียงดังกันดิ เสียงเข้าไมค์มันจับเสียงพูดเราไม่ได้”
เด็ก ๆ เริ่มหงุดหงิดและอยากจะเลิกทำ
“ครูเชื่อว่าทุกคนทำได้ ลองอีกนิดนะ” ครูดีจังพูดขึ้นมาในขณะที่ทุกคนเริ่มท้อและไม่อยากไปต่อ
จังหวะที่คิดว่ามันคงไปต่อไม่ได้แล้ว ขอพอแค่นี้ แค่มีใครสักคนเข้ามาช่วยเสริมแรงให้คนคนนั้นก้าวต่อไปอีกสักหน่อย แล้วเมื่อข้ามผ่านเส้นกั้นนั้นไปได้ มันจะขยายขีดความสามารถและลดข้อจำกัดที่ตอนแรกคิดว่าทำไม่ได้ ความคิด ความเชื่อ เชื่อมโยงกับการกระทำเสมอ หากการกระทำที่มุ่งมั่น ทุ่มเท ใส่ความพยายามเข้าไปแล้วมันข้ามขีดจำกัดไปได้ คนคนนั้นจะเชื่อว่าสิ่งที่คิดว่าทำไม่ได้ จริง ๆ แล้วมันทำได้นี่
และแล้ว จาก “ไม่มีทางเป็นไปได้” ก็กลายเป็น “ฉันก็ทำได้นี่นา” จาก ” Impossible” จึงเปลี่ยนเป็น “I’m possible”
นักเรียนหลายคนจากที่พูดกันเกือบ 10 รอบ ก็สามารถพูดประโยคภาษาอังกฤษโต้ตอบกับโปรแกรมให้ผ่านได้
“ครู หนูทำได้แล้ว ตอนแรกหนูไม่กล้าพูดเลย กลัวว่ามันจะผิด แต่พอทำไปเรื่อย ๆ พอมันได้แล้ว หนูก็กล้าพูดออกไป” น้องอั้ม นักเรียนชั้น ม.2 ที่เคยร้องไห้เวลาเรียนแล้วทำแบบฝึกหัดไม่ได้ อั้มลองทำดูตามที่ครูดีจังบอกแล้วกลายเป็นว่า ทุกครั้งที่ทำผิดอั้มจะบอกกับครูดีจังว่า “ไม่เป็นไร หนูจะตั้งใจให้มากขึ้นกว่าเดิม” เด็กหญิงที่เคยร้องไห้ในวันนั้นกลายเป็นเด็กที่มั่นใจในการพูดภาษาอังกฤษในวันนี้
ด้วยความร่วมมือกันของครูผู้สอนที่มักจะบอกกับเด็กเสมอว่า “ขอบคุณที่ลองทำดู ความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากความพยายามของหนูเอง” หรือแม้แต่ โปรแกรมวินเนอร์อิงลิช ที่แม้เด็กๆ จะทำข้อสอบไม่ผ่าน ไม่ได้หมายความว่าเขาย้อนกลับไปแก้ตัวไม่ได้ กลับกัน โปรแกรมฯ จะคอยเปิดโอกาสให้น้อง ๆ ได้ลองทำแบบทดสอบอีกครั้ง แถมยังมีข้อความให้กำลังใจ เช่น “สุดจัดปลัดบอก” “พยายามอีกนิดนะ” ข้อความเหล่านี้ที่ขึ้นมาช่วยให้กำลังใจ เสริมแรงให้เด็ก ๆ อยากจะทำต่อ และส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ นั่นคือ ความพยายามของเด็ก ๆ ขอเป็นกำลังใจให้น้อง ๆ ทุกคนที่กำลังเจอจุดที่ยากแต่เชื่อเถิดว่า เราทุกคนล้วนมีทั้งพรสวรรค์พิเศษและมีพื้นที่ส่วนที่เราต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจเพิ่มอีกสักนิดเพื่อให้เราก้าวข้ามผ่านไปได้
การทำไม่ผ่าน ไม่ใช่ความล้มเหลว แต่การจมอยู่กับความผิดพลาดนั้นต่างหากที่จะทำให้เราไม่ได้ก้าวไปข้างหน้า
ขอขอบคุณเรื่องราวการรวมพลังจากคุณครูณิชากร บัวทรัพย์ (ครูดีจัง) ครูในโครงการ Teach For Thailand น้องอั้ม นักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนในโครงการร้อยพลังการศึกษา จ.นครสวรรค์และทีมงาน Winner English
#SchoolToolsxTeachForThailandxWinnerEnglish
#ร้อยพลังการศึกษา