โรงเรียนที่เราอยากส่งลูกหลานไปเรียนต้องเป็นอย่างไร?

โรงเรียนที่เราอยากส่งลูกหลานไปเรียนต้องเป็นอย่างไร?

“ถ้าเป็นอย่างนี้ อยู่ไม่ได้แน่” 

เมื่อ 11 ปีที่แล้ว ผอ.พจนพร จิตเจริญทวีโชค ได้เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการที่ ‘รุจิรพัฒน์’ โรงเรียนติดชายแดนไทย-พม่า อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี 

ภาพแรกที่พบ โรงเรียนแห่งนี้ไม่ได้ใกล้เคียงกับภาพโรงเรียนในฝันเลย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่ารก  ห้องน้ำที่มีก็กลายเป็นห้องน้ำร้าง สภาพภายในเลอะเทอะ โถส้วมเต็มไปด้วยกองไม้ ประตูหักพัง เนื่องจากที่บ้านนักเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้มีห้องน้ำ เวลาปลดทุกข์ก็เข้าป่าแล้วใช้ไม้เช็ดก้น เมื่อมาโรงเรียน ทำให้เด็ก ๆ ไม่รู้เลยว่าส้วมใช้ยังไง หลังจากทำธุระเสร็จ จึงไม่ได้ราดน้ำและทิ้งกองไม้ไว้ในโถส้วมเต็มไปหมด 

ผอ.พจนพรคิดว่าหากปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป คงไม่ไหวแน่ ท่านจึงเริ่มพัฒนาจากการสอนเด็กให้ใช้ห้องน้ำเป็นก่อน แต่การทำงานครั้งนี้ไม่ใช่การทำงานเพียงคนเดียว ผอ.และคณะครูร่วมกันปลูกฝังการใช้ห้องน้ำให้ถูกสุขลักษณะ โดยบูรณาการเรื่อง สุขา ไปในทุกรายวิชา ตั้งแต่วิธีการใช้ส้วม การชำระทำความสะอาดร่างกายและการรักษาความสะอาดห้องน้ำ 

ทว่า พฤติกรรมที่เคยชินมาเป็นระยะเวลานานไม่ได้ถูกเปลี่ยนได้ในเวลาเพียง 2-3 วัน แม้ว่าเด็ก ๆ จะถูกสอนที่โรงเรียนแบบนี้ แต่เมื่อกลับไปที่บ้าน บ้านของแต่ละคนไม่มีห้องน้ำให้ใช้ เขาก็วนกลับไปสู่วงจรเดิม  เด็ก ๆ เกิดความรู้สึกต่อต้านเพราะเขาไม่รู้ถึงโทษจากการใช้ส้วมผิดสุขลักษณะ ไม่รู้ว่าพฤติกรรมที่เขาทำจะก่อให้เกิดโรคอะไรตามมาบ้าง ยิ่งเปรียบเทียบการเข้าห้องน้ำกับการเข้าป่า เดินเข้าไปในป่าจึงเป็นเรื่องที่ง่ายกว่าสำหรับพวกเขา

คุณครูและผอ.ไม่ยอมแพ้เพียงเท่านี้ ทุกคนทำงานหนักเป็น 2 เท่า ด้วยความแตกต่างทางวัฒนธรรม ผอ.และคุณครูร่วมกันวางแผนและพยายามเข้าถึงวัฒนธรรมของชุมชน ซึ่งไม่ใช่วัฒนธรรมของเด็กไทยทั่ว ๆ ไป  แต่คุณครูต้องลงพื้นที่ไปทีละหมู่บ้านซึ่งเป็นป่าเป็นเขา เพื่อเข้าไปประชาสัมพันธ์ให้คนในชุมชนและผู้ปกครองได้รับทราบข้อมูลจากทางโรงเรียน  

หลังจากนั้น โรงเรียนจึงริเริ่ม ‘โครงงานคุณธรรม’ ที่มีชื่อว่า  ‘พลพรรคคนรักษ์ส้วม’ เด็ก ๆ ได้มีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ ดูแลทำความสะอาดห้องน้ำ เมื่อพวกเขาได้รับมอบหมายหน้าที่กลายเป็นการฝึกฝนคุณธรรมไปโดยไม่รู้ตัว  จากความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของที่ช่วยกันดูแลรักษาความสะอาด  ไม่เพียงแต่ส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์เรื่องความสะอาด แต่ยังทำให้เด็ก ๆ ฝึกความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ในแง่ของการดูแลสุขอนามัยของตนเองและคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อผู้อื่น การขัดห้องน้ำจึงไม่ต่างจากการขัดเกลานิสัยและเป็นการปลูกฝังเมล็ดพันธุ์แห่งความดีภายในตัวเด็ก ๆ

“ห้องน้ำเราเหม็น ทำยังไงดีครู”
“ล้างอย่างเดียว มันยังเหม็นอยู่เลย”

พอเริ่มช่วยกันรักษาความสะอาด เด็ก ๆ เริ่มคิดต่อยอดไปจนถึงจะหาวิธีดับกลิ่นอย่างไร 

“ถ้ามันเหม็น เราจะทำยังไงได้บ้าง” คุณครูชวนคิด
“เอาถ่านไปใส่ดีไหมคะครู”
“มีวิธีการอื่นอีกไหมครู

จากปัญหาที่เด็ก ๆ สังเกตเห็นและอยากจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นการคิดต่อยอดไปสู่โครงงานคุณธรรมที่เด็ก ๆ เป็นเจ้าของ โดยมีคุณครูและผู้อำนวยการสนับสนุน เด็ก ๆ เรียนรู้วิธีการทำน้ำหมัก EM และการสกัดตะไคร้หอมจากวิชาวิทยาศาสตร์ หรือ การทำกระเช้าใบเตย เอามะกรูดเข้าไปแขวนในห้องน้ำจากการเรียนวิชาการงานอาชีพ

นี่คือกระบวนการของการทำ ‘โครงงานคุณธรรม’  คุณธรรมไม่ใช่แค่พุทธ แต่สำหรับทุกศาสนา ลองนึกภาพดูว่า โรงเรียนรุจิรพัฒน์อยู่ในเขตเทือกเขาตะนาวศรี ติดชายแดน เป็นโรงเรียนพุทธแต่มีเด็กศาสนาคริสต์ มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ดังนั้น การเป็นโรงเรียนคุณธรรมจึงไม่ใช่การเป็นโรงเรียนวิถีพุทธ แต่เด็ก ๆ ที่มีความแตกต่างหลากหลายเหล่านี้สามารถอยู่ร่วมกันได้ ผ่านคำว่า ‘คุณธรรม’ ที่ไม่ได้ถูกตีกรอบด้วยศาสนา 

หลังมื้ออาหาร เด็กๆ ต่างพากันมาล้างถาดหลุมของตนเองเพื่อใช้ในวันถัดไป

“การทำงานตอนแรกมันก็เหนื่อยหมดแหละ แต่พอผลมันออกมา ความสำเร็จตรงนั้นมันทำให้หายเหนื่อยหมดเลย ชื่นชมผลผลิต อย่างเราเป็นครู เราเห็นเด็กเติบโต เราก็มีความสุข โรงเรียนคุณธรรมเข้ามา เด็กเราก็เปลี่ยนไป เพราะเราเข้ามาสู่โครงงานคุณธรรมนี่แหละ มันเกิดผลผลิตที่งอกงาม” คุณครูชิรยุตน์ กล่าว 

เด็ก ๆ ป.3 ร่วมแรงแข็งขันกันตำหยวกกล้วยเพื่อเป็นอาหารให้หมู
สองสาวน้อยกำลังดูแลแปลงผักของตนเองอย่างขะมักเขม้น 

สิ่งที่เด็ก ๆ ถูกฝึกมา กลายเป็นการส่งต่อจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง พี่ทำเป็นแบบอย่าง น้องทำตาม แม้แต่เด็กเล็กที่อยู่ชั้นอนุบาล เมื่อเขามาที่โรงเรียน เห็นพี่ ๆ ช่วยกันรักษาความสะอาด เดินแถวเป็นระเบียบ เขาก็ทำตามได้และเกิดการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น 

การเปลี่ยนความคิด พฤติกรรม และลักษณะนิสัยของบุคคลไม่ใช่เรื่องง่าย หากผู้บริหาร คุณครูท้อกันตั้งแต่แรก เราคงไม่ทันจะได้เห็นผลผลิตอันงอกงาม นั่นคือ คุณธรรมในตัวเด็ก แต่ถ้าเราลงมือทำ แม้จะเริ่มจากจุดเล็ก ๆ ก็อาจส่งแรงกระเพื่อมไปในวงกว้าง เสมือนกับเวลาที่เรามีเทียนเล่มหนึ่งในมือแล้วจุดไฟต่อไปยังเทียนเล่มอื่น แม้เทียนดวงแรกจะดับไป แต่ไฟที่ถูกส่งต่อไปเรื่อย ๆ จะไม่มีวันดับ 

ขอขอบคุณเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจจาก ผอ.พจนพร จิตเจริญทวีโชค, คุณครูชิรยุตน์ วงศ์ยุทธรัตน์, คุณครูจักรพงศ์ บางวัด โรงเรียนรุจิรพัฒน์ และ อ.โอภาส เจริญเชื้อ นิเทศอาสาโครงการโรงเรียนคุณธรรม

#โรงเรียนคุณธรรม