“รู้แล้วทำไมยังทำอีก”

นักเรียนชั้น ม.5 คนหนึ่ง เล่าว่า..
เวลาที่เธอเข้าไปปรึกษาปัญหากับผู้ใหญ่ หลายครั้งที่เธอรู้ในสิ่งที่ตนเองทำผิดพลาด แต่การถูกตอกย้ำด้วยคำพูดเหล่านั้นยิ่งทำให้เธอตั้งกำแพงขึ้นมา และไม่กล้าไปปรึกษา เพราะ พื้นที่ตรงนั้นไม่ใช่ “พื้นที่ปลอดภัย” สำหรับเธอ

ครูต้น ครูแนะแนวผู้พยายามสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้นักเรียน แต่ก่อนที่จะมาถึงวันนี้
ครูต้นก็รู้สึกว่าตนเองเคยเป็นคนที่ ‘ตัดสิน’ นักเรียนมาก่อน


ตลอดระยะเวลา15 ปี ที่เป็นครูแนะแนว เวลาที่มีนักเรียนมาปรึกษาปัญหา ครูต้นใช้กระบวนการให้คำปรึกษาตามหลักจิตวิทยาและการแนะแนว แต่มีบางครั้งที่ครูต้นก็เผลอคิดว่า…

“ปัญหาแบบนี้ ก็ต้องแก้แบบนี้สิ” 

คำตอบที่มาจากประสบการณ์ของผู้ใหญ่อาจกลายเป็นคำตอบสำเร็จรูปที่ไม่ได้ใช้กับเด็กได้ทุกคน และที่สำคัญวิธีการเหล่านั้น ไม่ใช่คำตอบที่มาจากตัวของเด็กเอง จนกระทั่ง ครูต้นได้เข้าร่วมอบรม  “โครงการครูแนะแนวรุ่นใหม่สร้างเด็กไทยให้ออกแบบชีวิตตนเองได้” 

ภาพที่เกิดขึ้นครั้งแรกที่เข้าร่วมอบรม ไม่ได้เป็นไปอย่างที่ครูต้นคาดหวังไว้ ครูแนะแนวทุกท่านที่มาที่นี่ร่วมกิจกรรมโดยนั่งพื้น เล่นเกม ทำกิจกรรมไม่ต่างจากเด็ก แต่นี่คือ สิ่งที่ องค์กรอาชีฟ (a-chieve) ผู้จัดโครงการครูแนะแนวรุ่นใหม่ฯ ต้องการให้คุณครูเป็นผู้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของตนเองก่อนที่จะนำกระบวนการต่างๆไปใช้จริงกับนักเรียน 

กระบวนการที่ครูต้นสนใจและอยากนำกลับมาใช้ คือ “การสร้างพื้นที่ปลอดภัย” และ “การรับฟังแบบไม่ตัดสิน”

ช่วงแรกที่ครูต้นพยายามเอากระบวนการที่ได้จากการอบรมกลับมาใช้ในโรงเรียน ไม่ใช่เรื่องง่ายดาย หรือสวยหรูอย่างที่คิดไว้  ครูต้นพยายามสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้นักเรียน สอนให้เด็กๆรู้จักฟังกันโดยครูต้นทำเป็นแบบอย่าง แต่ครูต้นก็ยังถูกนักเรียนล้อในช่วงแรกด้วยประโยคที่ครูต้นมักจะพูดกับเด็กๆ นั่นคือ  

“ถ้ามีคนพูดต้องมีคนฟัง” 

บางทีสอนๆอยู่ ห้องเรียนนักกีฬาก็ลุกขึ้นมาต่อยกัน ขณะที่ทำกิจกรรมเป็นวงกลม มีเพื่อนพูด แต่มีคนไม่ได้ฟังและหยอกล้อกันไปมาจนเกิดความโมโหและทะเลาะกันในที่สุด

เวลาเล่นเกม ครูต้นรู้สึกเลยว่าตัวเองตึงเครียดมากเกินไป เพราะโฟกัสแต่เป้าหมายหรือผลลัพธ์ของเกม จึงเกิดความคิดว่าทำไมเด็กไม่เป็นไปตามเกม จนกระทั่ง ได้พูดคุยกับทีมงานอาชีฟ (a-chieve) สิ่งที่ทีมงานตอบกลับมาคือ 

“สิ่งที่เรามุ่งหวังไม่ใช่ผลลัพธ์ ไม่ใช่จุดสุดท้ายของเกมอย่างเดียว แต่มุ่งหวังให้ครูดูที่กระบวนการ ว่าในระหว่างทางเด็กได้พัฒนาอะไรอยู่  เด็กได้คุย ได้พูด ได้วางแผน”

ทำให้ครูต้นได้กลับมามองตรงจุดนี้และยิ่งเปิดใจยิ่งขึ้น 

สิ่งที่ยากกว่าไม่ใช่คนอื่น แต่คือ ‘วิธีการคิดของตัวเอง’ การยึดติดรูปแบบเดิมๆตั้งแต่เรียนจบมา สอนแบบนี้ เป็นแบบนี้มาตั้งนาน การจะก้าวออกจาก Comfort Zone มันค่อนข้างยาก บางทีมันก็เหนื่อย มันก็ท้อ กลายเป็นความขัดแย้งในใจตนเองแต่การจะสร้างพื้นที่ปลอดภัย สอนให้เด็กๆรู้จักการเคารพผู้อื่น ใช้ข้อตกลงร่วมกัน กว่าจะสร้างสิ่งเหล่านี้ได้ ครูต้องสร้างให้เกิดขึ้นในตนเองก่อน  

ครูต้นยังคงนำกระบวนการของอาชีฟ (a-chieve) มาใช้กับนักเรียน สิ่งที่เริ่มเปลี่ยนไปคือ เธอใจเย็นมากขึ้น จากเมื่อก่อนที่เป็นคนจริงจังกับการสอน ระเบียบเป๊ะ ใครเข้าห้องช้าเกิน 5 นาที ต้องโดนลุกนั่ง  โดยลืมไปเลยว่าข้อตกลงที่ใช้คือสิ่งที่ครูกำหนดขึ้นมาเองแต่เพียงผู้เดียว ไม่ได้ถามความคิดเห็นจากนักเรียน ไม่ใช่ข้อตกลงร่วม ทำให้วิธีการคือการบังคับใช้กฎ เด็กรู้สึกถูกบังคับ แต่หลังจากที่ครูต้นใช้ข้อตกลงร่วมที่เด็กมีส่วนในการตัดสินใจ เป็นส่วนหนึ่งของห้อง เป็นส่วนหนึ่งของวิชา ปรากฏว่าเธอรู้สึกมีความสุขมากขึ้นและนักเรียนเองก็รู้สึกถึงการมีส่วนร่วม มีพื้นที่ในการแสดงออก

“ครูไม่ตัดสินเราทันที เขาฟังเหตุผลของเราก่อน”
“มันง่ายมากที่จะเข้าไปปรึกษาครูต้น”
“ครูทำให้หนูกล้าพูดความในใจมากกว่าเดิม”

เสียงสะท้อนจากนักเรียนชั้น ม.5 ที่ได้เรียนกับครูต้น พวกเขาเห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งท่าทีของครูและกระบวนการเรียนรู้ที่ครูจัดให้ สิ่งที่พวกเขารู้สึกเมื่อตอน ม.4 คือ ณ ตอนนั้นวิธีการสอนของครูต้นเหมือนอยู่ในกรอบบรรทัดฐานบางอย่าง ทำให้พวกเขายังไม่กล้าเป็นตัวเอง ไม่กล้าพูดหรือแสดงความรู้สึกในใจ แต่พอมา ม.5 ครูต้นใช้เกม กระบวนการให้เด็กแสดงความคิดเห็น สร้างข้อตกลงร่วมกัน สร้างพื้นที่ปลอดภัยที่ทำให้ทุกคนมั่นใจได้ว่าทุกอย่างที่พูดออกมาจะเป็นความลับของห้อง ครูไม่ได้นำไปพูดต่อ ทำให้เด็กๆกล้าจะแสดงความคิดที่แท้จริง หรือบอกเล่าความรู้สึกโดยที่ไม่กลัวการถูกตัดสินจากครูและเพื่อน

 “เรารู้สึกดีตรงที่เราตั้งใจทำ เราอยากให้เขามีพื้นที่ตรงนี้ มีส่วนร่วมกับเรา แล้วเขารับรู้ได้ มันเป็นกำลังใจในการทำงานให้กับเรา” ใบหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มและแววตาที่มีความสุขของครูต้นปรากฏให้เราได้เห็น

มนุษย์แค่ต้องการใครสักคนที่เป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ และรับฟังแบบ ‘ไม่ตัดสิน’ ถ้าหากเราอยากมีพื้นที่แบบนั้น เราก็ควรเริ่มสร้างจากการเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ใครสักคน  ลองเปิดใจรับฟังปัญหาของเขาโดยไม่นำความคิด ประสบการณ์ของตนเองไปตีกรอบการแก้ปัญหาของผู้อื่น ลองอยู่ตรงนั้น ณ ขณะนั้น รับฟังคนๆนั้นแบบ 100% ดู แล้วคุณอาจจะพบว่า ตัวคุณเข้าใจเขาได้มากขึ้นกว่าเดิม

ขอขอบคุณเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจจากคุณครูเบญจวรรณ บุญคลี่ (ครูต้น) และข้อมูลจากทีมงานอาชีฟ (a-chieve)

#SchoolToolsxโครงการครูแนะแนวรุ่นใหม่สร้างเด็กไทยให้ออกแบบชีวิตตนเองได้

#ร้อยพลังการศึกษาx@a-chieve