คอมจะสอนดีกว่าครูได้อย่างไร?

“ครูครับ หูฟังผมไม่ดัง”
“ครูคะ คอมหนูค้าง”
“ครู เน็ตเข้าไม่ได้”

 ลำพังแค่การออกแบบการสอนตามปกติก็ใช้เวลามากแล้ว แต่พอมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้ามาทำให้ครูต้องทำงานหนักขึ้น 2 เท่า ครูกิ๊ก ครูคณิตฯ ที่ได้ใช้โปรแกรม “เลิร์นเอ็ดดูเคชั่น (Learn Education)” โปรแกรมคอมพิวเตอร์สอนคณิตศาสตร์ในการสอนนักเรียนชั้น ม.ต้น สิ่งที่ครูกิ๊กต้องเผชิญคือในช่วงแรก ครูยอมรับเลยว่าห้องเรียนค่อนข้างเละเทะ เพราะครูเองก็ยังไม่รู้ว่าจะผสมผสานการสอนของครูและคอมฯ ได้อย่างไร  ความอลหม่านในคาบเรียน ที่ต้องแก้ปัญหาทางเทคนิค  ครูกิ๊กรู้สึกว่าตนเองใช้พลังงานในคาบเรียนเลิร์นเอ็ดดูเคชั่นมากกว่าการสอนด้วยตนเองเสียอีก แค่กว่านักเรึยนจะเปิดคอมฯ เข้าโปรแกรมก็กินเวลาเรียนไปมากแล้ว

ครูกิ๊กจึงเริ่มปรับวิธีการใหม่โดยไปเปิดคอมฯ รอนักเรียนก่อนหรือประสานกับคุณครูท่านอื่นที่ใช้ห้องคอมฯ ก่อนหน้าว่าจะใช้คอมฯ ต่อในคาบถัดไป เพื่อให้นักเรียนสามารถเข้ามาถึงแล้วใช้โปรแกรมได้เลย นอกจากนั้น ครูกิ๊กยังกลับไปดูบทเรียนในโปรแกรมเลิร์นเอ็ดดูเคชั่นล่วงหน้าว่า ในโปรแกรมสอนเรื่องอะไรบ้าง ครูจะได้เลือกว่า บทเรียนไหนที่ให้เด็กเรียนกับโปรแกรมหรือบทเรียนไหนที่ครูจะสอนเอง เช่น…….

– เรื่อง รูปเรขาคณิต เด็กๆ เรียนในโปรแกรมแล้ว เห็นภาพเคลื่อนไหวชัดเจน ทำให้เด็กเข้าใจง่ายกว่าการที่ครูจะเขียนรูป 2 มิติบนกระดาน
– เรื่อง สถิติ  ในโปรแกรมเหมือนพาเด็กๆ ออกจากห้องเรียน ด้วยการมีคลิปวีดิโอพานักเรียนไปดูวิธีการเก็บข้อมูลทางสถิติ การทำแบบสอบถามและนำเสนอเป็นสถิติ ทำให้เด็กๆ เข้าใจว่าเราเรียนสถิติไปเพื่ออะไร
– เรื่อง ระบบจำนวนเต็มที่ครูตัดสินใจจะสอนด้วยตนเองเพราะทำให้เด็กเด็กเข้าใจง่ายได้มากกว่า เป็นต้น

ดังนั้น สิ่งที่ครูกิ๊กพยายามทดลองและค้นหา คือการสร้างสมดุลให้เด็กๆ ฝึกการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านโปรแกรมเลิร์นเอ็ดดูเคชั่น เพราะในปัจจุบัน การเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นทักษะสำคัญของเด็กยุคใหม่ที่จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ตลอดชีวิต  ขณะเดียวกัน ครูก็ไม่ทิ้งการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน และทำให้ครูรู้ว่าเด็กคนไหนไม่เข้าใจเนื้อหาที่เรียน ผ่านการตั้งคำถาม ตอบคำถามในห้องเรียน มีกิจกรรมการเรียนในห้องเรียนที่นอกเหนือจากการเรียนในโปรแกรมเลิร์นเอ็ดดูชั่น แม้ในช่วงแรก ครูกิ๊กต้องเจอความท้าทายที่ต้องเรียนรู้และแก้ปัญหาในการใช้โปรแกรมในการสอน และครูจะต้องเตรียมการสอนมากขึ้น  แต่ด้วยความเชื่อว่าโปรแกรมเป็นประโยชน์ต่อนักเรียน ทำให้ครูกิ๊กยังคงหาวิธีผสมผสานการสอนของตนเองกับโปรแกรมต่อไป จนกระทั่ง ได้รับผลตอบรับจากเด็กๆ

“หนูชอบเวลาที่ในโปรแกรมมีถ้วยรางวัลให้ท้ายคาบ หนูรู้สึกว่าหนูอยากดูเพราะหนูได้ถ้วยรางวัล”
“เพื่อนมีการอวดกันว่าเราได้กี่เปอร์เซ็นต์ เพื่อนได้กี่เปอร์เซ็นต์เลยกระตุ้นให้เราอยากเข้าไปเรียน”
“เพื่อนผู้ชายนี่ตัวโม้เลย เดินมาถามว่า พวกแกเรียนได้กี่เปอร์เซ็นต์แล้ว”

          บรรยากาศในห้องเรียนที่เด็กๆ กระตือรือร้นมากยิ่งขึ้น มีการแข่งกันเรียนให้ได้เปอร์เซ็นการเข้าเรียนเพิ่มขึ้น เนื่องจากเวลาที่เด็กๆ เข้าไปเรียนตามคลิปวีดิโอ ตามบทเรียนในโปรแกรมเลิร์นเอ็ดดูเคชั่น จะมีการเก็บสะสมเปอร์เซ็นต์การเข้าเรียนให้เด็กๆ ได้เห็น และมีรูปภาพถ้วยรางวัลขึ้นมาเป็นการเสริมแรงเชิงบวกมันไม่ง่ายเลยที่ครูจะผสมผสานการสอนของครูเองกับการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้ามาสอนให้เด็กๆ เข้าใจคณิตศาสตร์มากยิ่งขึ้น  เพราะมันไม่ใช่การที่ครูทิ้งให้เด็กอยู่กับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แล้วครูสบายไม่ต้องสอน แต่ในทางกลับกัน ครูต้องเตรียมตัวในการสอนมากขึ้น ที่จะใช้โปรแกรมและปรับการสอนของตัวเองให้สอดคล้องและเหมาะกับผู้เรียน

          การมีโปรแกรมเลิร์นเอ็ดดูเคชั่นเข้ามาช่วยในการเรียนการสอน ช่วยให้เด็กเก่งได้ต่อยอดไปในจุดที่พัฒนาศักยภาพของเขาได้เต็มที่ คือเขาสามารถกดดูเนื้อหาที่ยากขึ้นตามความสามารถของเขาได้ และครูเองก็สามารถใช้เวลาช่วงที่เด็กเก่งเรียนรู้ด้วยตนเองได้ ไปดูแลนักเรียนคนอื่นๆ ที่ยังไม่เข้าใจ 

สุดท้ายแล้ว ไม่ใช่ว่าคอมพิวเตอร์จะเข้ามาแทนที่ครูผู้สอน แต่หมายความว่าคุณครูจะใช้ศิลปะในการสอนอย่างไรให้ตอบโจทย์เด็กนักเรียนที่มีทั้งเด็กเก่ง ปานกลางและอ่อนในหนึ่งห้องเรียน โดยการใช้รูปแบบ / เทคนิคการสอนของตนเองร่วมกับการใช้เทคโนโลยีการสอนในปัจจุบัน เพื่อให้นักเรียนได้ทั้งการฝึกทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเองและได้พัฒนาศักยภาพของพวกเขาอย่างเต็มที่โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ขอขอบคุณเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจจากคุณครูตุลลิยา สาริบุตร (ครูกุ๊กกิ๊ก)  น้องตาล น้องป๋วย น้องสายฝน น้องนิว นักเรียนชั้น ม.2  โรงเรียนพยุหะวิทยาคม จ.นครสวรรค์

#SchoolToolsxLearnEducation

#ร้อยพลังการศึกษาXLearnCorp