กระบวนการของอาชีฟ จุดไฟบางอย่างในตัวเรา

ทำให้เราว้าว!!

ว้าวนั้นก็คือ ทำให้เรารู้จักตัวเอง

จะปรับตัวเข้าหาคนอื่นอย่างไร

ทำให้เรารับฟังอย่างตั้งใจจริงๆ

 

ในปีแรกที่ครูศิริพร คำชวด หรือครูหนิง เริ่มสอนที่โรงเรียนวังข่อยพิทยา จ.นครสวรรค์ ครูหนิงสอนวิชาคณิตศาสตร์นักเรียนชั้น ม.ปลาย แต่ขณะเดียวกันก็ต้องรับบทครูประจำชั้นนักเรียนชั้น ม.2 และทำหน้าที่ครูแนะแนวด้วย เธอบอกว่าตอนนั้นคิดหนัก เพราะไม่มีประสบการณ์ทั้งการแนะแนวเด็ก หรือการได้รับแนะแนวมาก่อน

ครูศิริพร คำชวด หรือครูหนิง โรงเรียนวังข่อยพิทยา จ.นครสวรรค์

ครูหนิงได้เห็นคุณครูที่เคยผ่านการอบรมครูแนะแนวรุ่นใหม่ สร้างเด็กไทยให้ออกแบบชีวิตตนเองได้กับอาชีฟ (a-chieve) จัดกระบวนการสอนแนะแนวในห้องเรียนได้อย่างน่าสนใจ เด็กๆ กล้าพูดคุยกับครู กล้าบอกสิ่งที่ต้องการจริงๆ ครูหนิงเล่าว่า “ก็มามองตัวเองว่าเรายังทำไม่ได้ เราถาม เด็กเงียบ เขาไม่ได้ไว้วางใจเราว่าจะช่วยเขาแก้ปัญหาได้ จะรับฟังเขาจริงๆ เราไม่รู้จะทำอย่างไร” เธอได้รับการแนะนำให้เข้าร่วมอบรมโครงการครูแนะแนวรุ่นใหม่ฯ รุ่น 3 ครูหนิงจึงตั้งใจกรอกใบสมัคร เพื่อให้ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมการอบรม ซึ่งเธอก็ได้เข้าร่วมในที่สุด

“กระบวนการ 1-2 วันแรก เราสนุกกับกิจกรรม แต่ยังไม่รู้ว่าจัดเพื่ออะไร มารู้ตัวอีกทีวันสุดท้ายว่า เขาอยากให้เรารู้จักตัวเองจากทุกกิจกรรมที่เขาจัด ไม่ใช่การมานั่งฟังวิทยากร 1 คนบรรยายหน้าห้อง เขาพาเราทำกิจกรรม ซึ่งทุกกิจกรรมเรานำกลับมาใช้ได้จริงๆ เป็นกิจกรรมที่ดึงดูดความสนใจเด็ก ทำให้เขาสามารถเรียนรู้ตัวเองได้” ครูหนิงกล่าว

ครูหนิงเข้ามาเป็นครูประจำชั้นแทนครูคนก่อนที่ขอย้ายกลับบ้าน ซึ่งเธอพบว่านักเรียนยังผูกพันกับครูคนเดิมทำให้นักเรียนไม่ฟังเธอ อีกทั้งในห้องเรียนซึ่งมีนักเรียนอยู่ 22 คน จะแบ่งแยกเป็นกลุ่มนักเรียนหญิงซึ่งไม่ชอบกลุ่มนักเรียนชาย เวลาต้องทำกิจกรรม กลุ่มนักเรียนหญิงมักเป็นคนทำ นักเรียนชายก็ไม่ช่วย และจะทะเลาะกันอยู่เสมอ

หลังจากไปอบรมอาชีฟกลับมา ครูหนิงได้นำกระบวนการของอาชีฟมาเปิดวงให้เด็กพูดคุยถึงตัวตนของตนเอง “คาบแรกเราประทับใจมาก เด็กๆ ร้องไห้ออกมาเลย เพราะเขาไม่เคยได้พูดในสิ่งที่ตัวเองเป็นมาก่อน และเหมือนเขาไม่เคยรู้ว่าเพื่อนที่นั่งข้างเขาก็มีความรู้สึกเดียวกัน เพื่อนที่พูดจาแรงๆ พูดตรงๆ ก็มีจิตใจอ่อนไหวเหมือนกัน” ครูหนิงกล่าว และเสริมอีกว่า หลังจากสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เกิดขึ้นในห้องเรียน เธอสัมผัสได้ว่าเด็กๆ รักและเป็นห่วงกัน แต่ที่พูดจากันแรงๆ ก็เพราะไม่รู้วิธีสื่อสารกัน ครูหนิงกล่าวว่า “เรารู้สึกมหัศจรรย์มาก เพราะไม่เคยเห็นภาพลักษณ์นี้จากในห้อง”

สำหรับคาบแรก มีเด็กบางคนเห็นเพื่อนห้องอื่นได้ทำกิจกรรมอย่างเล่นกีฬา จึงบอกครูหนิงว่าอยากไปทำอย่างอื่นมากกว่า ซึ่งครูหนิงก็บอกว่า ถ้ายังไม่พร้อมก็ไม่เป็นไร ออกไปเล่นกับเพื่อนก็ได้ เด็กคนนั้นจึงเดินออกไปจริงๆ ตอนแรกเธอรู้สึกผิดหวัง แต่หลังจากกระบวนการในคาบแรกที่เด็กๆ เปิดใจและแสดงความเป็นห่วงเพื่อน ทำให้ครูหนิงรู้สึกฮึด และจัดกระบวนการในคาบถัดมาอีกครั้ง “คาบต่อไปจัดอีก เด็กคนนั้นก็กลับมา พร้อมจะรับและเรียนรู้ไปด้วยกัน” ครูหนิงเล่า

หลังจากนำกระบวนการของอาชีฟมาใช้ ทำให้ครูหนิงเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวเด็กๆ นักเรียนพูดคุยกันมากขึ้น ยอมรับในความแตกต่าง และเริ่มหลอมรวมเป็นกลุ่มเดียวกัน หนึ่งในเหตุการณ์ที่ครูหนิงประทับใจมากหลังจากจัดกระบวนการของอาชีพมาประมาณ 1 ภาคเรียนก็คือ วันหนึ่งเธอเปิดประตูเข้าไปในห้องเรียน นักเรียนทั้ง 22 คนช่วยกันลงมือทำพานไหว้ครู โดยครูไม่ต้องแบ่งงานให้ว่าใครทำหน้าที่อะไร แต่เด็กๆ คุยกันเอง แบ่งหน้าที่กันเอง

ครูหนิงบอกว่า “กระบวนการของอาชีฟจุดไฟบางอย่างในตัวเรา ทำให้เราว้าว! ว้าวนั้นก็คือทำให้เรารู้จักตัวเอง จะปรับตัวเข้าหาคนอื่นอย่างไร ทำให้เรารับฟังอย่างตั้งใจจริงๆ” ครูหนิงนำกระบวนการนี้ไปปรับใช้ในการสอนคณิตศาสตร์ด้วย จากเดิมที่เธอคิดว่าเด็กต้องทำได้ แต่พอตั้งใจฟังเด็กพูดมากขึ้นว่าเขาไม่เข้าใจเพราะครูสอนเร็วไป ก็ทำให้เธอปรับตัวมากขึ้น

ครูหนิงยังถ่ายทอดสิ่งที่ได้เรียนรู้มาบอกเล่าให้คุณครูคนอื่นในโรงเรียนฟัง และสนับสนุนให้ไปอบรมเหมือนเธอ นอกจากนี้ ยังชวนเพื่อนๆ ครูมาสังเกตการณ์ในคาบที่เธอจัดกระบวนการอาชีฟด้วย หากครูคนไหนสนใจอยากรู้วิธีจัดกระบวนการ วิธีพูดคุยกับเด็ก เธอก็จะอธิบายให้ฟัง

 

“เราต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัย เด็กสามารถพูดในสิ่งที่คิด สิ่งที่รู้สึก โดยที่เราไม่ไปตัดสินเขาจากประสบการณ์ของเรา” ครูหนิงอธิบาย และทิ้งท้ายว่า “การฟังเสียงเด็กสำคัญ ยิ่งฟังเสียงในใจเขาจริงๆ จะรู้ว่า เด็กๆ ทุกคนน่ารักมาก พฤติกรรมที่แสดงออกกับสิ่งที่อยู่ในใจเขาคนละเรื่องเลย”

ขอขอบคุณเรื่องราวดีๆ จากครูศิริพร คำชวด หรือครูหนิง โรงเรียนวังข่อยพิทยา จ.นครสวรรค์ กับผลลัพธ์ที่ได้จากการร่วมอบรมในโครงการครูแนะแนวรุ่นใหม่ฯ รุ่น 3 กับอาชีฟ

ร้อยพลังการศึกษา x a-chieve

SchoolTools

โครงการครูแนะแนวรุ่นใหม่สร้างเด็กไทยให้ออกแบบชีวิตได้รุ่น3