ในขณะที่โลกเปลี่ยนไป เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลง
อาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน ความถนัดหรือทักษะใหม่ๆ
เป็นสิ่งตลาดแรงงานต้องการมากขึ้น
การค้นหาตัวเองและสิ่งที่ชอบจึงเป็นเรื่องสำคัญ
ในประเด็นเกี่ยวกับการค้นหาความถนัดของตนเอง หาตัวเองไม่เจอ หรือกว่าจะหาเจอก็สายเสียแล้ว มักถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันบ่อยครั้ง
แน่นอนว่าประเด็นนี้ถูกนำมาสนทนาในช่วง “ปัญหาคนรุ่นใหม่กับการเลือกเส้นทางชีวิต”ในงานแถลงข่าวงาน “ฟูมฟักฝันเฟส” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2561 โดย ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
“เพราะชีวิต คือการเรียนรู้และการหาประสบการณ์ระหว่างทาง” คล้ายกับดร. สมเกียรติจะบอกเด็กรุ่นใหม่ว่า ไม่ว่าจะเลือกเรียนสายไหน หรือทำงานด้าน ใดก็ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต
“ความท้าทายและความยากของการค้นหาอาชีพของเด็กยุคนี้คือการมีตัวเลือกเยอะ ซึ่งต่างจากยุคของผม เเต่ละอาชีพทำอะไรบ้างเเทบไม่รู้เลย เรื่องอาชีพนั้นผมคิดว่ามันไม่ได้มีคำตอบเดียวในชีวิต ดังนั้นจึงไม่ได้มีคำตอบที่ถูกเพียงอาชีพเดียว” ดร.สมเกียรติ กล่าว
ดร.สมเกียรติ ฝากไปถึงเด็กรุ่นใหม่ก่อนที่จะตัดสินใจเรียนเลือกกสายการเรียน 3 ข้อสำคัญ ว่า ต้องรู้ว่า
ความฝันที่เเท้จริงคืออะไร ชอบอะไร อะไรที่มีคุณค่า ทำแล้วมีความสุข
รู้ว่ามีความสามารถด้านไหน
และรู้ว่าตลาด หรือสังคมต้องการได้อะไร
สอดคล้องกับ“คุณเกศรา มัญชุศรี” ประธานกรรมการ และกรรมการอิสระ บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ที่มาร่วมวงพูดคุยแบ่งปันเรื่องราวการช่วยแนะแนวอาชีพ และการศึกษาให้แก่ลูกๆ ในกิจกรรมเสวนา “อนาคตที่ใช่ ทำไมต้อง Right Now” เธอบอกว่า เด็กรุ่นใหม่ต้องมั่นใจว่ามีความรู้ในสิ่งที่ตัวเองชอบเเละชำนาญก็จะเป็นอาชีพที่ดีได้ในอนาคต
“ลูกคนเเรกก็ยังหาตัวเองอยู่ คนที่สองก็กำลังจะขึ้นมหาวิทยาลัยแต่ยังไม่รู้ว่าชอบอะไร เราได้คำเเนะนำจากอาชีฟ ว่า ปล่อยให้เขาค้นหาตัวเอง ตอนนี้อาจจะยังไม่กล้า เราคิดว่าเด็กสมัยใหม่ยังได้ข้อมูลไม่พอ จึงกลัวว่าอาจจะเสียโอกาส ก็บอกลูก ว่าชีวิตอีกตั้งยาวไกลถ้าเลือกแล้วไม่ชอบก็เปลี่ยนใหม่ได้” คุณเกศรา กล่าว
การแหวกแนวทางแบบคนละทิศคนละทางกับสิ่งที่ร่ำเรียนมา ทำให้เกิดคำถามว่า อะไรทำให้ “คุณสุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์” ผู้ก่อตั้งเพจ Toolmorrow เพจผู้สร้างสรรค์และผลิตเนื้อหาเพื่อพัฒนาคุณชีวิตเด็กและเยาวชน หันนมาจับงานด้านสังคม
“วันหนึ่งเกิดคำถามในใจว่างานที่ทำอยู่ได้เติมเต็มคุณค่าในชีวิตของเราไหม ตอนไปดูงานต่างประเทศเห็นคนยืนมุงดู งานดีไซน์ก็เกิดคำถามว่า งานดีๆ ต้องจำกัดแค่คนมีเงินด้วยหรือ จากนั้นผมก็กลับมาและตั้งใจออกมาทำงานที่ทำในปัจจุบัน ผมว่าเด็กสมัยนี้น่าอิจฉา ยุคผมต้องเลือกอาชีพตามเกรด ไม่ได้มีการเเนะเเนวอะไรมากมาย”
เรื่องนี้คล้ายกับเรื่องราวของ “น้องเพื่อน-นางสาวเนาวรัตน์ สดสำอาง” ตัวแทนคนรุ่นใหม่จาก a-chieve ที่ออกไปค้นหาจนเจออาชีพที่ใช่
“เราเรียนวิทย์-คณิต แต่กลับเป็นนักประชาสัมพันธ์ตั้งแต่ ม.4 ก็พยายามหาข้อมูลจนไปเจอ achieve เราไม่ลังเล ที่ จะสมัครร่วมกิจกรรม ก็ได้ทำเวิร์คช้อป และไปติดตามทำอาชีพ ได้เห็นวิธีการทำงาน ซึ่งนี่แหละคือสิ่งที่เราอยากเป็น”
เช่นเดียวกับ“น้องจีจี้- นางสาวณัฐณิชา อิ่วสกุล” ตัวแทนคนรุ่นใหม่จาก a-chieve
“ตอน ม.ปลาย ยังไม่รู้อยากเรียนอะไร แต่รู้ว่าชอบวิชาภาษาอังกฤษ และประวัติศาตร์ วันหนึ่งไปเจอโปสเตอร์ของ a-chieve ก็ได้ลองไปติดตามดูอาชีพทนายความ แต่รู้เลยว่าไม่ชอบ เราเลยก็เลือกเรียนรัฐศาสตร์แทน” น้องจีจี้ กล่าว
“คุณณิชา พิทยาพงศกร” นักวิจัยทีมการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) สะท้อนว่า ปัญหาครอบครัวมีฐานะยากจนไม่ใช่สาเหตุสำคัญของการออกกลางคัน
“ที่ผ่านมางานวิจัยเรื่องการเลือกอาชีพของเด็กๆมีน้อยมาก ส่วนหนึ่งที่เราเคยเห็นคือเด็กหลุดจากระบบการศึกษาอยู่ ในช่วงมัธยม สาเหตุคือยากจน แต่ตอนนี้ที่ยังหลุดจากระบบอยู่ก็เพราะว่าไม่ได้สนใจอยากเรียน ไม่รู้ว่าเรียนไปเพื่ออะไร ส่วนเด็กมัธยมปลายก็เลือกสายการเรียนในมหาวิทยาลัยไม่ได้”
ทั้งนี้สำหรับงาน “ฟูมฟัก ฝัน เฟส 2018 โดย AFTERKLASS” จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-28 ตุลาคมนี้ ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติไบเทค ห้อง EH 107 ตั้งแต่เวลา 08.00– 18.00 น. เข้างานฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถติดตามข่าวสารข้อมูลเพิ่มเติมของโครงการได้ที่เว็บไซต์ www.foomfukfunfest.com และเฟซบุ๊ค www.facbook.com/foomfukfunfest มีกิจกรรมที่น่าสนใจ ประกอบด้วย
- นิทรรศการอาชีพกว่า 100 อาชีพ
- พูดคุยกับเหล่าพี่ต้นแบบอาชีพตัวจริง
- เวทีจุดไฟฝันรับแรงบันดาลใจกับวิทยากรชื่อดัง
- Workshop นักเรียน : ใครที่ยังค้นหาตัวเองไม่เจอ อนาคตยังเบลอ ๆ มาตรงนี้ งานนี้รับจำนวนจำกัดสมัครให้ไว
- Workshop ผู้ปกครอง : เคล็ดลับเข้าใจวัยรุ่นที่มีความฝัน และวิธีจัดการการเงินที่ช่วยวางแผนอนาคตของลูกสู่อนาคตที่ใช่ได้ไม่ยาก
“คุณวิน-นรินทรื จิตต์ปราณีชัย” ผู้ร่วมก่อตั้ง กิจการเพื่อสังคม a-chieve กล่าวว่า ปีนี้นับเป็นปีที่ 3 ของการจัดงาน “ฟูมฟัก ฝัน เฟส” โดยที่ผ่านมาอาชีฟได้รับการตอบรับจากน้องๆเยาวชนเป็นอย่างดี มีน้องๆเข้าร่วมงานในปี 2560 จำนวนทั้งหมด 12,686 คน ผลปรากฏว่า ร้อยละ 80 มีความพึงพอใจและค้นพบตัวเองว่าควรเลือกเรียนเส้นทางไหน
ด้าน“คุณรวี อ่างทอง” ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและองค์การสัมพันธ์ ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ให้การสนับสนุนหลัก กล่าวว่า ธนาคารเตรียม AFTERKLASS Workshop โดยเป็นการจัดกิจกรรมให้ความรู้ด้านการลงทุนและการเงิน มีพี่ต้นแบบสายการเงินและสายเทคโนโลยีของธนาคารร่วมตอบคำถามและแนะนำข้อมูลอาชีพ รวมถึงการนำข้อมูลอาชีพที่หลากหลายของธนาคารมาแบ่งปัน นอกจากนั้นยังพบว่าเด็กมัธยมฯเริ่มเป็นหนี้มากขึ้น
“เราเก็บข้อมูลจากเด็กๆ จึงรู้ว่าที่จริงแล้วรู้ว่าอยากทำอาชีพอะไร แต่ไม่มีคนให้พูดคุยหรือสอบถาม เราจึงใช้ความเชี่ยวชาญในเรื่องการเงินและการบริหารจัดการเข้าไป เพราะเราเชื่อว่า ถ้าเด็กมีทักษะในการบริหารจัดการเงินที่ดีก็จะช่วยในเรื่องของอาชีพได้ ซึ่ง AFTERKLASS เป็นสังคมออนไลน์จึงเปรียบเสมือนห้องเรียนขนาดใหญ่แห่งใหม่ของเด็กในยุคนี้” คุณรวี กล่าว
อนึ่ง a-chieve เป็นหนึ่งในเครื่องมือพัฒนาทักษะชีวิตด้านเส้นทางอาชีพในโครงการร้อยพลังการศึกษา โดยนำหลักสูตรแนะแนว ที่ประกอบด้วย กระบวนการวิเคราะห์ตัวเองและเป้าหมายอาชีพ หลักสูตรและเครื่องมือแนะแนวที่คุณครูสามารถนำไปใช้ได้ กิจกรรมที่ให้เด็กมีประสบการณ์กับอาชีพที่ตนสนใจ นำสู่ห้องแนะแนวของโรงเรียนต่างๆ ในโครงการร้อยพลังการศึกษา เริ่มด้วยการอบรมกระบวนการแนะแนวอาชีพให้กับครูจาก 20 โรงเรียน จำนวน 25 คน เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในห้องเรียนได้จริง