เด็กไทยส่วนใหญ่เรียนหนัก แต่กลับไม่รู้ว่าตัวเองอยากเป็นอะไรยิ่งเป็นเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน ยิ่งไม่มีแรงค้นหาตัวเอง..ขาดตัวช่วยจัดการความฝันอย่างหนัก !
“ไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้ว่าตัวเองอยากเรียนคณะอะไร อยากเป็นอะไร” เป็นปัญหาที่เด็กไทยเจอและแก้ไม่หายมานาน ข้อสังเกตของ “วิน – นรินทร์ จิตต์ปราณีชัย” ผู้ร่วมก่อตั้ง a-chieve
สอดรับกับผลวิจัย “คนไทยมอนิเตอร์ 2557: เสียงเยาวชน” พบว่าเยาวชนไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 67 มีเป้าหมายในชีวิตเป็นเรื่องการเรียน ในขณะที่เป้าหมายรองลงมาร้อยละ 44 คือเรื่องการงาน แต่มีเยาวชนเพียงร้อยละ 23 ที่ตั้งเป้าหมายการประกอบอาชีพตามที่ตนเองฝันไว้
สถานการณ์ของปัญหายังมีสาเหตุมาจากความเข้าใจเกี่ยวกับการแนะแนวที่มุ่งให้ข้อมูลเพียงแค่การศึกษาต่อโดยละเลยการแนะแนวอาชีพ
“ผมมองว่าประเทศไทยยังไม่ค่อยให้คุณค่ากับวิชาแนะแนว หรือถ้ามีครูสอนวิชาแนะแนวก็ไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน การแนะแนวอาชีพไม่ใช่แค่การให้เด็กบอกว่าอยากเป็นอะไร แต่ต้องเข้าไปคุยเพื่อเปิดมุมมองให้เด็ก” วิน – นรินทร์ กล่าว
ผลพวงของครอบครัวที่มีฐานะยากจนเป็นสิ่งที่หนึ่งทำให้เด็กไม่มีแรงค้นหาตัวเอง
วิน – นรินทร์ เคยวิเคราะห์กับเพื่อนในทีมถึงมุมมองที่มีต่ออาชีพระหว่างเด็กในเมืองกับเด็กต่างจังหวัด พบว่า อาชีพส่วนใหญ่ที่เด็กต่างจังหวัดเห็นจะมีแค่ หมอ ครู พยาบาล ตำรวจ เกษตรกร เมื่อเทียบกับเด็กในเมืองที่เห็นมากกว่า เช่น ยูทูปเบอร์ เชฟ นอกจากนั้นยังเป็นเรื่องการขาดโอกาส
“เด็กต่างจังหวัดเห็นน้อย แค่ ครู หมอ พยาบาล ตำรวจ เกษตรกร ขนาดอาชีพที่น้อยอยู่แล้วเขายังไม่รู้ว่ามันคืออะไร ไม่เข้าใจ ว่าต้องเรียนอะไร เพื่อไปเป็นแบบนั้น เรามองว่าเป็นปัญหา ที่สำคัญคือเรื่องของโอกาส เด็กที่มีรายได้ต่ำ พ่อแม่ไม่มีเงินส่งเรียน ทำให้เด็กรู้สึกว่าไปได้ไม่ไกลมากกว่านี้”
ตลอดระยะเวลา 8 ปี “a-chieve” ใช้เครื่องมือที่ประกอบด้วย
- กระบวนการวิเคราะห์ตัวเองและเป้าหมายอาชีพ
- พัฒนาหลักสูตรและเครื่องมือแนะแนวที่คุณครูนำไปใช้ได้
- กิจกรรมที่ให้เด็กมีประสบการณ์กับอาชีพที่ตนสนใจ
- ฐานข้อมูลอาชีพออนไลน์
- สร้างเครือข่ายพี่ต้นแบบอาชีพ
ทำให้นักเรียนมัธยมที่เคยเข้าร่วมกว่า 12,000 คน เห็นความสำคัญของการมีเป้าหมายอาชีพ มีความเข้าใจตนเองและอาชีพที่ตนเองสนใจมากขึ้นเพื่อนำไปใช้ตัดสินใจเลือกเป้าหมายทั้งการเรียนและอาชีพในอนาคตของตนได้
วันนี้ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการร้อยพลังการศึกษา โดยนำหลักสูตรแนะแนว ที่ประกอบด้วย กระบวนการวิเคราะห์ตัวเองและเป้าหมายอาชีพ หลักสูตรและเครื่องมือแนะแนวที่คุณครูสามารถนำไปใช้ได้ กิจกรรมที่ให้เด็กมีประสบการณ์กับอาชีพที่ตนสนใจ นำสู่ห้องแนะแนวของโรงเรียนต่างๆ ในโครงการร้อยพลังการศึกษา โดยเริ่มด้วยการอบรมกระบวนการแนะแนวอาชีพให้กับครูจาก 20 โรงเรียน จำนวน 25 คน เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในห้องเรียนได้จริง
ที่ผ่านมาได้นำหลักสูตรดังกล่าวไปใช้ในโรงเรียนบ้านเกาะรัง จังหวัดลพบุรี
“เราเข้าไปจัดกระบวนการแนะแนวที่ให้ครูไปทำกระบวนการนี้ในห้องเรียนต่อได้ สิ่งแรกก็คือเราต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัย ให้เด็กกล้าพูดความฝันของตัวเอง แล้วให้วิเคราะห์ตัวเองผ่านตุ๊กตาขนมปัง โดยให้เขียนเป้าหมาย ความฝัน ความถนัด และสภาพครอบครัว ซึ่งได้รับความสนใจทั้งจากเด็กและครู” “วิน – นรินทร์” กล่าว
ผลงานที่มีคุณค่าไม่ได้จบลงแค่การจดจำ แต่สิ่งที่ “a-chieve” อยากเห็น ก็คือ
“เราอยากเห็นอาชีฟเวอร์ที่เห็นคุณค่าและรักในสิ่งที่ทำ คือ เขาตื่นขึ้นมาแล้วอยากไปทำงานทุกวัน อยากเห็นคนที่ขับรถเมล์มีความสุขกับการขับรถเมล์ อยากเห็นคนที่ทำอาหารอร่อยๆ เพราะเขารู้สึกอยู่ทุกวันว่าอยากจะให้คนได้กินแต่สิ่งที่อร่อย ผมรู้สึกว่าถ้ามีคนแบบนี้เกิดขึ้นเยอะๆ สังคมก็จะดีขึ้น ซึ่งสิ่งที่เราต้องทำคือทำให้เด็กมัธยมเติบโตไปเป็นแบบนี้ให้ได้” “วิน – นรินทร์” ทิ้งท้าย
คุณช่วยได้ : ร่วมร้อยพลังกับเรา www.tcfe.or.th และ Facebook/ร้อยพลังการศึกษา