เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น

“เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น” นวัตกรรมการศึกษา ตอบโจทย์การเรียนวิทย์-คณิตยุคดิจิตอล

การศึกษามีคุณค่า และเทคโนโลยีจะมีบทบาทมากในอนาคต ซึ่งช่วยพัฒนาการศึกษาให้ดีขึ้น ส่วนผลกระทบ คือ เด็กทุกคน ต้องได้รับการศึกษาและต้องกระจายไปทั่วถึง ทั้งในเมืองและต่างจังหวัด

เพราะ…การศึกษาสำคัญที่สุด

ประโยคนี้เป็นเสียงสะท้อนจากผู้ที่มีความมุ่งมั่นจะยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศด้วยเทคโนโลยีและมีความเชื่อว่า “การศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ ทุกคนก็มีส่วนร่วมได้”

คุณธานินทร์ ทิมทอง

เรากำลังพูดถึง “คุณธานินทร์ ทิมทอง” ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการบริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด ที่พยายามสะท้อนหลักคิดพื้นฐานที่มีต่อการศึกษาว่า

“การศึกษาต้องนำไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นและมีความสุข ดูแลตัวเองและครอบครัว มีจิตสำนึกที่ดีและเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมให้สังคมน่าอยู่”

วันนี้ “เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น” ได้เข้ามามีส่วนร่วมสร้างโอกาสให้กับเด็กขาดโอกาสในโครงการ “ร้อยพลังการศึกษา”

เราจึงขอพาคุณไปพูดคุยกับเขาถึงที่มาที่ไปว่าทำไมจึงเข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการนี้ และอะไรคือแนวคิดของการศึกษาสำหรับอนาคตที่เขามองเห็น

แต่ก่อนอื่น คงต้องถามว่าอะไรเป็นแรงบันดาลใจให้คนอย่างเขาหันมาเอาจริงเรื่องการศึกษาขนาดนี้

“ในฐานะคนทำงานภาคเอกชนในระดับบริหารมา 10 กว่าปี ผมถามตัวเองว่าชีวิตผมมีคุณค่าไหม ตายไปผมจะรู้สึกเติมเต็มกับชีวิตได้ไหม คำตอบคือไม่ แต่ถ้าผมทำให้ชีวิตเป็นประโยชน์กับคนอื่นได้ มันน่าจะดีกว่า นี่คือจุดตัดสินใจและก็โชคดีที่สิ่งที่ทำและเชื่อ มันเชื่อมโยงกับแนวทางแก้ปัญหากับหลายคน”

หลายครั้งมีคำถามจากสังคมถึงความไม่ก้าวหน้าแถมยังถดถอยรั้งท้ายผลการศึกษาของประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง “เวียดนาม” ทั้งๆที่ตัวเลขงบประมาณจัดการศึกษาของไทยสูงลิ่ว

“สิ่งที่ต้องเข้าใจก็คือ การศึกษาเป็นเรื่องระยะยาว การที่การศึกษาบ้านเรามาถึงจุดนี้มันอาจจะเป็นผลมาจากเมื่อ 20 หรือ 30 ปีก่อน ที่เราตั้งหลักไม่ดีก็ได้ แต่สิ่งที่ผมเชื่อคือ ทุกคนกำลังช่วยกันหาทางทำให้ดีขึ้น และด้วยเจตนาที่ดีก็น่าจะไปสู่สิ่งที่ดีในอนาคต”

การศึกษาที่ดีต้องเริ่มต้นจากการหวังให้เด็กทุกคนมีโอกาสเล่าเรียนเท่าเทียมกัน

“การศึกษาที่ดีและมีคุณภาพอาจต้องมองแยกส่วนกัน การศึกษาที่ดีคือต้องทั่วถึงและเท่าเทียม ส่วนคุณภาพต้องมองบริบทของแต่ละพื้นที่ เช่น ในเมืองคุณภาพการศึกษาอาจจะเน้นที่วิชาการ ชาวเขาอาจจะเป็นการเข้าถึงโอกาส หรือองค์ความรู้ที่ทำให้มีชีวิตที่ดี แต่โดยเนื้อแล้วการศึกษาต้องทำให้คนฉลาดขึ้นเชิงองค์ความรู้และนิสัยดีในเชิงศีลธรรมจรรยา”

 “การศึกษา เทคโนโลยีและผลกระทบ” นี่คือ 3 คำ ที่เขาสะท้อนความเป็น “เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น” ออกมาอย่างมั่นใจ

“การศึกษามีคุณค่าและเทคโนโลยีจะมีบทบาทมากในอนาคต ซึ่งช่วยพัฒนาการศึกษาให้ดีขึ้น ส่วนผลกระทบ คือ เด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษาและต้องกระจายไปทั่วถึง ทั้งในเมืองและต่างจังหวัด”

การมีจิ๊กซอว์ตัวหนึ่ง เราอาจดูไม่ออกว่าคือภาพอะไร แต่ถ้าต่อให้ครบ เราจะบอกได้ดีกว่ามาก “เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น” ก็เหมือน จิ๊กซอว์ที่เข้ามาช่วยทำให้ภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีชัดขึ้น

กว่า 7 ปี ที่ “เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น” นำนวัตกรรมการศึกษาที่นำระบบคอมพิวเตอร์มาเป็นเครื่องมือช่วยสอนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์รูปแบบใหม่ น่าสนใจ เรียนสนุก เนื้อหาเข้าใจง่าย สอดคล้องกับหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการเรียนการสอนแบบครบวงจร รวมทั้งเป็นเครื่องมือช่วยสนับสนุนครูให้บริหารจัดการรูปแบบ และตอบโจทย์ขาดแคลนครู

มีซอฟต์แวร์ ไฟล์การเรียนที่แยกแต่ละหน่วยการเรียน ดิจิตอลคอนเทนต์ เนื้อหาการเรียนที่ตรงตามหลักสูตรแกนกลางของกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมกับวิดีโอภาพ และเสียง ที่ง่ายต่อการเข้าใจและจดจำ พร้อมทั้งตำราและแบบฝึกหัด คู่มือครู เพื่อให้ผู้เรียนและผู้สอนเข้าใจบทเรียนไปพร้อม ๆ กัน โดยมีการทบทวนและการฝึกฝนความรู้จากทีมฝึกอบรม และให้บริการของทางเลิร์น เอ็ดดูเคชั่น ให้การสนับสนุนการใช้งานในระบบ

โดยมีนักเรียนและครูใช้ระบบเลิร์น เอ็ดดูเคชั่น กว่า 40,000 คน 150 โรงเรียนทั่วประเทศ (ข้อมูลเดือน ธ.ค 2560)  และผลคะแนน O-Net ดีขึ้น

“เราเป็นแค่องค์ประกอบเล็กๆที่ทำให้ในแวดวงการศึกษาเริ่มตระหนักการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆกับพื้นที่ขาดแคลนครู พื้นที่การศึกษาที่ต้องพัฒนา หรือแม้แต่เอาไปเสริมสร้างการศึกษาในพื้นที่ดีๆ ซึ่งสามารถช่วยให้เด็กดีขึ้น ห้องเรียนเปลี่ยนได้”

แน่นอนว่า ทุกเส้นทางไม่มีคำว่าง่าย

 “อุปสรรคมีแน่นอน ทั้งเรื่องการทำความเข้าใจ การเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนการสอน และที่สำคัญคือ เรื่องงบประมาณ ซึ่งไม่ได้มีการสนับสนุนในเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนจากกระทรวง มันก็เลยขยายผลได้เพียงแค่กับคนที่มีความเชื่อ มาทำร่วมกันแล้วจะขยายวงไป”

เพื่อหาคำตอบ…เราจึงชวนพูดคุยเพิ่มเติม ว่า อะไรทำให้ “เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น” เข้ามามีส่วนร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมกันให้กับเด็กด้อยโอกาสกับโครงการ “ร้อยพลังการศึกษา”

 “เราได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิยุวพัฒน์มาก่อน ร่วมกันคิดว่า นอกจากการให้ทุนแล้วทำไมถึงไม่ทำเรื่องคุณภาพให้กระจายไปทั่วทุกพื้นที่ของประเทศและควรมีเครื่องมือที่รวมกันแล้วตอบโจทย์ให้กับโรงเรียน ซึ่งเลิร์น เอ็ดดูเคชั่นยินดีมากที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ เพราะเข้าถึงจริงๆ และเราก็มองเห็นความหวังที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน”

เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น

 “เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น” เป็นหนึ่งในภาคีเครือข่ายของโครงการ “ร้อยพลังการศึกษา” ซึ่งจะเข้ามาร่วมสนับสนุนหลักสูตรห้องเรียนดิจิทัลวิชาวิทย์- คณิต ระดับชั้น ม.1-3 เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศด้วยเทคโนโลยี

 “เราเป็นหนึ่งในภาคีของโครงการร้อยพลังการศึกษาที่มุ่งเน้นเรื่องคุณภาพการศึกษา ในวิชาวิทย์-คณิต ให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ เราก็จะนำดิจิตอลโซลูซันของเรา ไม่ว่าจะเป็น ตำรา คอนเทนต์ กระบวนการ เข้าไปสนับสนุนโรงเรียนในโครงการ”

แล้วเลิร์นเอ็ดอยู่ตรงไหนของ “STEM” ศึกษา ?

Science Technology Engineering and Mathematics Education หรือ STEM Education คือ แนวทางจัดการศึกษาให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และสามารถบูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กระบวนการทางวิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ไปใช้ในการเชื่อมโยงและแก้ปัญหา ในชีวิตจริง รวมทั้งการพัฒนากระบวนการหรือผลผลิตใหม่ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21

 “สิ่งที่เราก็ทำคือ คณิต วิทย์ คอมพิวเตอร์ และมีโครงงานให้เด็กทำกิจกรรมซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาสะเต็ม นอกจากนี้เราพยายามสร้างกลไกเพื่อให้เด็กมีโอกาสเก็บเกี่ยวซอฟสกิลให้ได้มากที่สุด โดยทำให้การเรียนในห้องเรียนมีประสิทธิผล ไม่ต้องเรียนพิเศษ ให้เด็กมีโอกาสหลังเลิกเรียนไปเล่นกับเพื่อน ทำกิจกรรม เล่นดนตรี กีฬา ศิลปะ”

ขณะเดียวกันคุณธานินทร์เชื่อว่า “ปัญญาประดิษฐ์” ไม่ใช่เรื่องใหญ่แค่เรื่องใหม่ที่ต้องเจอ

 “AI อาจเอาชนะมนุษย์ได้ แต่ก็ไม่เหมือนกับมนุษย์”

คุณธานินทร์มองว่าต่อให้มีปัญญาประดิษฐ์ก็สร้างคนไม่ได้ คนต้องสร้างคน นั่นคือ “ครู” ทำอย่างไรให้ครูมีองค์ความรู้ในการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม ให้กับเด็กได้ถูกต้องเหมาะสม ต้องพัฒนาครูและสร้างเครื่องมือช่วยให้ครูมีเวลาดูแลเด็กมากขึ้น

“ผมไม่กลัวเครื่องจักรแทนคน เพราะจริงๆแทนได้ไม่หมด บางอาชีพอาจหายไป แต่คนมีความสามารถทักษะที่ให้อยู่รอด เราจะหาเจอว่าจะทำอย่างไร”

นี่เป็นส่วนหนึ่งของแง่มุมความคิด ความลุ่มลึก ของหนึ่งในผู้นำ “เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น” หนึ่งในภาคี “ร้อยพลังการศึกษา” ที่มุ่งมั่น ทุ่มเท ปลุกฝันปั้นธุรกิจเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย  คุณก็มีส่วนร่วมกับคุณธานินทร์ได้ ด้วยการสนับสนุนโครงการร้อยพลังการศึกษา บริจาคเงินเพื่อโครงการ “ผ้าป่าร้อยพลังการศึกษา” เพื่อเพิ่มโอกาสให้เด็กไทยเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ

ติดตามรายละเอียดที่  www.tcfe.or.th และ Facebook/ร้อยพลังการศึกษา

ผ้าป่าร้อยพลังการศึกษา ..ให้การศึกษา เท่ากับให้ชีวิต !