เราทุกคนสามารถสัมผัสได้ถึงเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ และต่างก็มีความเชื่อว่าอนาคตจะเดินไปสู่ AI (Artificial Intelligence) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ผลคือเราก็มักจะถูกสะกิดเตือนกันอยู่บ่อยๆ ว่าต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา
สอดคล้องกับรายงาน The Future of Jobs ของ World Economic Forum เมื่อปี 2016 ได้สร้างความตระหนักให้กับนักพัฒนาบุคลากร นักการศึกษา ตลอดจนผู้บริหารทั้งในระดับองค์กรและระดับประเทศ ในการกำหนดทิศทางสร้างโปรแกรมการพัฒนาคนให้มีทักษะอนาคต หรือ Future Skills ที่ตอบโจทย์กับความเปลี่ยนแปลงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งงานวิจัยคาดการณ์ว่าอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้าปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาทดแทนคนในหลายๆ ส่วน ในอนาคตจะมี AI เป็นบอร์ดบริหารประมาณ 40% ปัจจุบันมี 2-3 บริษัทที่ไม่จ้างผู้บริหารที่เป็นคนแต่จะจ้างหุ่นยนต์ทำงานแทน
มีคำถามตามมาว่าแล้วโอกาสของอาชีพทางการศึกษาจะถูกกลืนหายไปด้วยหรือไม่ ประเด็นนี้ คุณธานินทร์ ทิมทอง ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการบริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด เชื่อว่าปัญญาประดิษฐ์ไม่ใช่เรื่องใหญ่แค่เป็นเรื่องใหม่ที่ต้องเจอ
“AI อาจเอาชนะมนุษย์ได้ แต่ก็ไม่เหมือนกับมนุษย์ ผมไม่กลัวเครื่องจักรแทนคน เพราะจริงๆ แทนได้ไม่หมด” คุณธานินทร์ กล่าว
คุณธานินทร์ยังได้สะท้อนในฐานะของคนที่อยู่ในแวดวงการศึกษาว่า ต่อให้มีปัญญาประดิษฐ์ก็สร้างคนไม่ได้ คนต้องสร้างคน นั่นคือ “ครู” ให้ครูมีองค์ความรู้และทักษะ ซึ่งไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไรสิ่งสำคัญก็คือการเสริมเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม ให้กับเด็กอย่างถูกต้องเหมาะสม จึงจำเป็นต้องพัฒนาครูและสร้างเครื่องมือช่วยครูเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21
ล่าสุดบริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (Learn Education) กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ด้านการศึกษา ในเครือ บริษัท เลิร์น คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้นำด้านการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือผ่านโปรแกรมการศึกษาแบบผสมผสาน (Blended Learning Solution) มีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำ โดยมีครูและนักเรียนให้ความไว้วางใจใช้ระบบกว่า 45,000 ราย ใน 150 โรงเรียนทั่วประเทศ จัดกิจกรรมประชุมครูประจำปี 2561 ภายใต้แนวคิด “Let’s have a better future together : รับมือการเปลี่ยนแปลงไปด้วยกันปรับตัวให้ทันศตวรรษที่ 21” มีวัตถุประสงค์เพื่อติดอาวุธทักษะที่จำเป็นต่อครูไทยในยุคดิจิทัลและเทคโนโลยีแห่งศตวรรษที่ 21 ณ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต รังสิต
งานนี้ได้รับความสนใจจากครูทั่วประเทศเข้าร่วมอบรมสัมมนากว่า 300 คน กับ 2 หลักสูตรคุณภาพ ได้แก่ หลักสูตร “STEM เชิงปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21” วิทยากรโดย อ.ดร.ปรัชญพงศ์ ยาศรี อาจารย์ประจำสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล และหลักสูตร “การสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC)” โดย รศ.ดร.มนตรี แย้มกสิกร อดีตคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งนอกจากจะให้ความรู้กับครูผ่านกิจกรรมการอบรมสัมมนาแล้ว ยังมีกิจกรรม Let’s Party Together เปิดโอกาสให้ครูแต่งตัวแบบ “Back to School หรือค่ำนี้พี่ขอเป็นนักเรียน” โดยชุดนักเรียนที่คณะครูใส่มาร่วมงานจะนำไปบริจาคให้แก่นักเรียนในโครงการของ Learn Education ต่อไป
“การจัดงานสัมมนาครูในปีนี้เพราะเล็งเห็นความสำคัญของครูที่จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ให้กับนักเรียน ครูทุกคนต้องมีการอัพเดทองค์ความรู้ใหม่ๆ และต้องปรับตัวให้ทันเทคโนโลยีต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะหากครูเข้าใจวิวัฒนาการที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ครูก็จะสามารถถ่ายทอดให้เด็กเข้าใจได้มากขึ้น” คุณธานินทร์ กล่าว
ครูมลฤดี ขวัญชุม โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่าตลอดระยะเวลา 2 วันของการสัมมนา ได้ทักษะความรู้ใหม่ๆ ที่ตนเองสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในห้องเรียนของตนเองได้
“ได้ทักษะความรู้ใหม่ๆ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในห้องเรียนของตนเองได้ เช่น กิจกรรมยกน้ำหนัก หลักสูตร STEM เด็กๆ ชอบวิธีการที่นำไปสอนเพราะได้ลงมือปฏิบัติจริง ทำให้เด็กๆ ได้เห็นภาพและการรู้จักวางแผน”
อ.ดร.ปรัชญพงศ์ ยาศรี อาจารย์ประจำสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยากรหลักสูตร STEM เชิงปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตอย่างมากเพราะวิวัฒนาการเหล่านั้นแทรกซึมอยู่ในทุกตารางการใช้ชีวิต รวมถึงคุณครูผู้รับหน้าที่ดูแลนักเรียนอนาคตของชาติก็ต้องเร่งปรับตัวให้ตามทันเทคโนโลยี
“ครูยิ่งปรับตัวไว เด็กนักเรียนยิ่งได้รับความรู้ไว” อ.ดร.ปรัชญพงศ์ กล่าว
ขณะที่ รศ.ดร.มนตรี แย้มกสิกร อดีตคณบดี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยากรหลักสูตร การสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) กล่าวว่า เป้าหมายของการดำเนินการชุมชนการเรียนรู้วิชาชีพ เป็นไปเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ที่จะเกิดผลต่อตัวนักเรียนทุกคนเป็นประเด็นสำคัญ แต่ด้วยในสภาพปัจจุบันสู่การเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว จึงจำเป็นที่ต้องมีวิธีการใหม่ๆ ที่จะมาช่วยปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนรู้ให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“การสร้างชุมชนการเรียนรู้ร่วมกันทั้งโรงเรียนเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นแนวทางที่จะช่วยให้สามารถค้นหาแนวทางที่ดีที่สุดที่จะกระตุ้นการเรียนรู้ของครูที่จะทำให้การจัดการเรียนรู้เพื่อลูกศิษย์เกิดประสิทธิภาพสูงสุด” รศ.ดร.มนตรี กล่าว
บริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด เป็นหนึ่งในภาคีเครือข่ายของโครงการ “ร้อยพลังการศึกษา” ซึ่งร่วมสนับสนุนหลักสูตรห้องเรียนดิจิทัลวิชาวิทย์- คณิต ระดับชั้น ม.1-3 เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศด้วยเทคโนโลยี โดยนำระบบคอมพิวเตอร์มาเป็นเครื่องมือช่วยสอนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์รูปแบบใหม่ ช่วยให้การเรียนการสอนเป็นเรื่องน่าสนใจ สนุก และเข้าใจง่าย สอดคล้องกับหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการเรียนการสอนแบบครบวงจร รวมทั้งเป็นเครื่องมือช่วยสนับสนุนครูให้บริหารจัดการรูปแบบการเรียนการสอน และตอบโจทย์ขาดแคลนครู
ติดตามข้อมูลข่าวสารเทคโนโลยีด้านการศึกษาของ บริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด ได้ https://www.learneducation.co.th/ หรือหากต้องการมีส่วนร่วมสนับสนุนโครงการ “ร้อยพลังการศึกษา” ผ่านแคมเปญ “บริจาคในโอกาสพิเศษ” เพื่อเพิ่มโอกาสให้เด็กไทยเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ https://donate.tcfe.or.th/special-events/pages/create ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ https://www.tcfe.or.th/ หรือ Facebook /ร้อยพลังการศึกษา