เด็กไทยทุกคนควรได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียมกัน แต่การจะแก้ปัญหานี้ได้จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย รวมถึงการเข้ามามีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ ที่มีศักยภาพ เพื่อทำหน้าที่ “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง”
ท่ามกลางโลกที่ผันผวน เราไม่มีทางรู้เลยว่าโลกในวันข้างหน้าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร “ความรู้” และ “การศึกษา” คือสิ่งจำเป็นที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลง
แต่เมื่อมองกลับมาที่การศึกษาบ้านเราก็ยังคงมีความซับซ้อน ทางออกสำหรับปัญหาจึงไม่สามารถทำได้ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง
มีคำถามตามมาว่าอะไรคือ หัวใจของการแก้ปัญหา?
คำตอบก็คือ “คน”
แล้ว “คนแบบไหน” ? ที่จะตอบโจทย์
การศึกษาไทยต้องผลิต “คนคุณภาพ” เพื่อรับมือกับความต้องการและเชื่อมโยงกับคุณภาพการศึกษาที่เด็กได้รับอย่างแท้จริง
เชื่อว่าสักวันหนึ่ง เด็กไทยทุกคนจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อให้พวกเขาสามารถกำหนดชะตาชีวิตได้ด้วยตนเอง นี่คือความเชื่อของ “ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์” องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2011 เป็นสมาชิกลำดับที่ 29 ของเครือข่าย ทีช ฟอร์ ออล ซึ่งเป็นเครือข่ายกิจการเพื่อสังคมที่มุ่งบรรเทาความไม่เสมอภาคด้านการศึกษาในประเทศต่างๆ
“ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์” จึงมุ่งขจัดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาออกจากประเทศไทยผ่านการสร้าง “ผู้นำ” ที่สรรหาและพัฒนาจากคนรุ่นใหม่ที่มุ่งมั่นและมีความสามารถ หรือที่เรียกว่า “ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง” เข้าไปสร้างการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียน โรงเรียน ผ่านการสอนเป็นเวลา 2 ปี พวกเขาเหล่านี้ไม่เพียงได้ร่วมเปลี่ยนชีวิตเด็กและชุมชน แต่ยังได้พัฒนาศักยภาพของตนเองและเข้าใจปัญหาสังคมไทย ตลอดจนก้าวเข้าไปเป็นผู้นำเพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาการศึกษาในระยะยาวจากทุกภาคส่วน
คุณสมบัติอย่างหนึ่งที่สำคัญของ “ผู้นำ” ต้องกล้าที่จะ “เปลี่ยน”
“วุฒยา เจริญผล หรือ พี่แอน” หัวหน้าฝ่ายเครือข่ายศิษย์เก่า ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ บอกว่า ผู้นำของ “ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์” ก็คือคนที่กล้าจะริเริ่มผลักดันการเปลี่ยนแปลง คนที่อดทนและมุ่งมั่นต่อความเชื่อของตนเอง และเป็นคนที่เข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้ว่าควรจะแก้ไขอย่างไร
แล้วจะสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างไร? แต่ก่อนที่พี่แอนจะตกผลึกว่า “ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง” ช่วยแก้ปัญหาการศึกษาอย่างไร เธอย้ำว่า
“การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องข้อมูลที่มีเยอะมาก ดังนั้นชุดข้อมูลต้องมีผู้ส่งสารที่เก่งและตรงตามโจทย์ เพื่อให้ผู้ศึกษานำไปใช้และได้รู้ว่าจะใช้เพื่ออะไรไม่ใช่แค่ให้ไปท่องจำ แต่หมายถึงว่าข้อมูลต้องนำมาปรับคนเรียนได้ง่าย เรียนไปด้วยความสนุก และรู้ว่ามีผลกับชีวิตเขาอย่างไร”
แล้วครูผู้นำ “สอนเพื่อเปลี่ยน” อย่างไร
ถ้าให้พูดถึง “ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์” วุฒยาตอบแบบไม่ต้องใช้เวลานาน เธอบอกว่า สอนเพื่อเปลี่ยน น่าจะตรงที่สุด นั้นหมายถึง เมื่อครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้ปฏิบัติหน้าที่ผ่านการสอนในโรงเรียนประถมขยายโอกาส และโรงเรียนมัธยม ในระดับชั้นม.ต้น เป็นเวลา 2 ปีการศึกษา เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และการเรียนรู้ให้นักเรียนที่ส่วนใหญ่มาจากชุมชนรายได้น้อย พร้อมทำงานร่วมกับบุคลากรในโรงเรียนและชุมชนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชนที่เข้าไปทำงาน หลังสองปีเข้าร่วมเครือข่ายศิษย์เก่า (Ambassador Network) เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบในสังคมจากทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง
“ระบบการศึกษาใหญ่มาก และในการแก้ปัญหาน่าจะเป็นที่รู้กันว่าไม่สามารถแก้ได้ใน 1- 2 ปี ดังนั้นการมีครูผู้นำมาช่วย หวังว่าเมื่อเข้าไปสอนให้เด็กมีความรู้ ได้รับแรงบันดาลใจ มีทักษะชีวิต พวกเขาก็ได้เรียนรู้ เข้าใจสภาพปัญหาการศึกษาของพื้นที่ต่างๆ ขณะเดียวกันเมื่อก้าวเข้าไปสู่สายงานที่แตกต่างกัน ก็จะก้าวไปเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนการแก้ปัญหาในสังคม”
ปัจจุบัน มีครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงกว่า 70 คน สร้างแรงบันดาลใจและดึงศักยภาพของนักเรียนกว่า 30,000 คน ในโรงเรียนขยายโอกาสกว่า 50 โรงเรียน นอกจากนี้ ศิษย์เก่าผู้นำการเปลี่ยนแปลงจำนวน 78 คน ยังได้กระจายไปยังภาคส่วนต่างๆ ของสังคม อาทิ ภาคการศึกษา ภาคสังคม ภาครัฐฯ และภาคเอกชน เพื่อร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
การเป็นครูว่ายากแล้ว แต่การที่เราจะเป็นครูที่ดี เป็นแบบอย่างให้กับนักเรียนยากยิ่งกว่า
“วุฒยา”บอกว่า ครูที่ดีต้องมีรากฐานหรือแรงผลักดันจากภายในที่ต้องการสอนนักเรียนให้ได้รับความรู้ที่สามารถนำไปใช้ในการประกอบอาชีพที่ตนเองรัก
“ครูต้องคอยเป็นผู้ชี้แนะ เหมือนเวลาตกปลาเราไม่ได้ให้เบ็ด แต่เราบอกเด็กว่า ถ้าจะตกปลาจะต้องทำอย่างไรถึงจะได้ปลามากิน ให้เขารู้วิธีการที่นำไปใช้ได้จริง”
เมื่อการเรียนรู้ของเด็กในศตวรรษที่ 21 ไม่เหมือนเดิม ความท้าทายก็คือความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในระดับวินาที มนุษย์ในอนาคตจำเป็นต้องหาสมดุลในชีวิตของตัวเองให้เจอ
“โมเดลของเรายังไม่เปลี่ยน แต่ในแต่ละพื้นที่เราอาจต้องมาดูว่าวิชาที่เรียนรู้ในชั้นเรียนจะปรับอย่างไรเพื่อให้เข้ากับบริบทของการพัฒนาของโลก อาจจะมีเรื่องของโค้ดดิ้งสำหรับเด็ก ที่อาจจะเข้ามามีส่วนในการช่วยเรียน คณิต วิทย์ แต่ก็จะขนานกันไปนโยบายแผนชาติ”
ทุกเส้นทางเดินไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
“วุฒยา” บอกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงานมี 2 ส่วนด้วยกัน คือ งบประมาณ และความเข้าใจในการทำงานร่วมกัน
“ความไม่คุ้นเคยกับพื้นที่ ระบบรัฐ หรือความเข้าใจในการทำงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน อาจเป็นเรื่องช่องว่างการเข้าใจก็ต้องมีการพูดคุยจึงจะทำงานร่วมกันได้ อีกเรื่องคืองบประมาณ เพราะเราเอกชนเป็นไม่แสวงหากำไร เราอยากให้รัฐเข้ามาสนับสนุน เพราะหมายถึงความยั่งยืน เราจะได้ไม่ต้องพึ่งหน่วยเอกชนมากมาย หากรัฐมองว่าสำคัญและควรลงทุน ก็ต้องจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสมเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนการเรียนการสอน”
อะไรทำให้ “ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์” เข้ามามีส่วนร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมกันให้กับเด็กขาดโอกาสกับโครงการ “ร้อยพลังการศึกษา”
คำตอบก็คือ “ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์” เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ “ร้อยพลังการศึกษา” ด้วยความเชื่อว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุด ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ คือ “ความเป็นผู้นำ”
ปัจจุบันโครงการฯ ได้เปิดสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งเป็นช่วง หัวเลี้ยวหัวต่อของอนาคตเด็กนักเรียนไทย ทั้งพัฒนาการของนักเรียน และระบบการศึกษาที่นักเรียนจะต้องเลือกระหว่างการเรียนต่อในสายสามัญ สายอาชีพ หรือออกจากระบบการศึกษา ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรีนครสวรรค์
“เราเป็นหนึ่งในภาคีของโครงการร้อยพลังการศึกษา ซึ่งจะนำครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงเป็นเครื่องมือนำลงสู่โรงเรียนของโครงการ เพื่อให้เด็กมีโอกาสเรียนรู้เท่าเทียมกัน หวังว่าเมื่อทุกคนร่วมมือแบบนี้ด้วยทักษะความถนัด การขับเคลื่อนการศึกษาแบบภาคีเครือข่ายก็จะสามารถส่งผลได้เร็วขึ้น” วุฒยา กล่าวทิ้งท้าย
คุณช่วยได้ : ร่วมร้อยพลังกับเรา www.tcfe.or.thและ Facebook/ร้อยพลังการศึกษา
- ร่วมสร้างกองผ้าป่าร้อยพลังการศึกษา และบริจาคเงิน : ในนามบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กรแล้วแชร์เพื่อนร่วมบุญ
- ร่วมให้ช่องทางสื่อสาร : แชร์ข้อมูลข่าวสารของเราในช่องทางของท่าน
- ร่วมรับข้อมูลข่าวสาร : ลงทะเบียนกับเรารับจดหมายข่าวติดตามความก้าวหน้า
- ร่วมเป็นอาสาสมัคร : ลงทะเบียนกับเราให้ข้อมูลงานเพื่อสังคมที่คุณถนัดและสนใจ