มาโรงเรียนไม่ได้เงินออกไปทำงานดีกว่า…

“ผมอยากเป็นไกด์ แต่ยังพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย
ส่วนเพื่อนที่ลาออกไปตั้งแต่ ป.6 เป็นไกด์ที่ปางช้าง หาเงินได้ตั้งเยอะ”


คำพูดของนักเรียนชาย ม.5 คนหนึ่งพูดกับ ผอ.ประเสริฐศักดิ์ เหมือนหาญ เขาอยากมีความรู้ มีทักษะที่จะไปประกอบอาชีพได้ แต่เมื่อลองเทียบตัวเองกับเพื่อนที่ไม่ได้เรียนดูกลับพบว่าเพื่อนที่ลาออกไปทำงานตั้งแต่ ป.6 เป็นไกด์นำเที่ยว มีรายได้เลี้ยงตัวเอง และพูดภาษาอังกฤษได้ดีกว่าตนที่เรียน ม.5 สายศิลป์ภาษา

พอได้ฟังคำพูดของนักเรียนคนนี้แล้ว ผอ.ประเสริฐศักดิ์ ซึ่งเพิ่งย้ายมาเป็นผู้บริหารที่โรงเรียนแม่วินสามัคคีแทบเข่าทรุด เขาคิดว่าถ้าเป็นอย่างนี้แสดงว่าการเรียนการสอนที่เป็นอยู่ไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน ไม่ได้ตอบโจทย์พื้นที่ชุมชน 

โรงเรียนแห่งนี้มีเด็กที่ลงมาจากบนดอย เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ม้ง ปกาเกอะญอ มูเซอ ไทยใหญ่ ฯลฯ มาเรียนและพักที่โรงเรียนกว่า 300 คน เด็กหลายคนเรียนจบ ป.6 ก็ต้องออกไปช่วยพ่อแม่ทำงาน เพราะความยากลำบากและทัศนคติที่คิดว่ามาโรงเรียนไม่ได้เงิน ออกไปทำงานดีกว่า

สิ่งนี้ คือ สิ่งที่โรงเรียนต้องต่อสู้ จะทำอย่างไรให้พวกเขาเห็นว่า การเรียนก็เหมือนการลงทุนที่ผลตอบแทนและกำไรอาจจะไม่ได้รวดเร็วทันใจแต่ต้องใช้เวลา

ผอ.จึงอยากจะสร้างโรงเรียนแม่วินสามัคคีให้เป็นโรงเรียนนวัตกรรมต้นแบบของเชียงใหม่ แล้วจะสร้างนักเรียนของเชียงใหม่อย่างไรล่ะ ที่ตอบโจทย์เชิงพื้นที่ ทั้งวัฒนธรรม วิถีชีวิต และชุมชน ปี 2561 ที่ผ่านมาจึงมีการปรับเปลี่ยนการสอนให้สอดคล้องกับบริบทมากขึ้น โดยมีการฝึกอาชีพให้กับเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็น ช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า งานบริการด้านการโรงแรม ทำขนม แปรรูปอาหาร นวดแผนโบราณ ขายกาแฟ ตัดผม ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ

เท่านั้นยังไม่พอ!

ทั้งผอ.และคุณครูในโรงเรียนประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายและดึงการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเข้ามา เช่น มีคนในชุมชนมาสอนทักษะอาชีพให้กับเด็กๆ และร่วมกับ ‘โครงการร้อยพลังการศึกษา’ นำเครื่องมือต่างๆ เข้ามาในโรงเรียน เช่น โปรแกรมสอนภาษาอังกฤษ Winner English, โครงการโรงเรียนคุณธรรม, ทุนการศึกษาจากมูลนิธิยุวพัฒน์ นอกจากนั้น ยังมีคุณครูทีชฟอร์ไทยแลนด์ (Teach For Thailand) เข้ามาทำงานที่นี่ ได้ร่วมกันออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้นักเรียนกล้าคิด กล้าแสดงออก และบอกความต้องการของตนเองได้ มีการบันทึกเป้าหมายของตนเอง ค้นหาความถนัด เพื่อนำไปสู่การเข้าใจตนเองและทำให้เด็กเริ่มเรียนรู้ว่าเขาจะรู้จักตนเองได้อย่างไร 

“เราพยายามเอาหลายๆ สีมารวมกันแต่งแต้มให้เด็กๆ เพราะศูนย์กลางเรา คือ เด็ก เรามีเป้าหมายร่วมกันที่จะตอบโจทย์พื้นที่ชุมชน และประเทศ อย่างน้อยที่สุด ถ้าเด็กไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัย แต่จบ ม.6 จากที่นี่ไป เขาต้องมีอย่างน้อยคนละ 1 อาชีพติดตัวไป”
ผอ.ประเสริฐศักดิ์กล่าว

ณ ตอนนี้ สิ่งที่เริ่มเห็นผล นักเรียนชั้น ม.3 ส่วนใหญ่กว่า 70% เรียนต่อสายอาชีพ ส่วนนักเรียนที่ต่อ ม.ปลายที่นี่ ก็สามารถเรียนไป ทำงานไป สร้างรายได้ให้ตนเอง ส่วนคนที่จบ ม.6 มีทั้งออกไปทำการเกษตรแบบ Smart Farmer เป็นไกด์นำเที่ยว เป็นช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า ถึงแม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้เรียนต่อมหาวิทยาลัย แต่ก็มีทักษะอาชีพที่ช่วยให้เขาสามารถหารายได้เลี้ยงตัวเองต่อไปได้ 

ในอนาคตอันใกล้นี้ โรงเรียนเตรียมจะพัฒนานักเรียนให้เด็กได้เรียนภาษาจีนตั้งแต่ ป.1- ม.3 เพื่อให้เด็กๆ สามารถสื่อสารกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้ และมีแนวคิดที่จะสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการเพื่อให้นักเรียนเข้าไปศึกษา เรียนรู้และลงมือปฏิบัติในพื้นที่จริง และสิ่งที่เน้นย้ำ คือนักเรียนเหล่านี้จะต้องเป็นคนดี  รักษ์ธรรมชาติ รักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะเขาเป็นคนในพื้นที่ที่จะกลายเป็นกลุ่มคนที่ช่วยกันดูแลทรัพยากรในชุมชนต่อไป

ดังนั้น การทำให้เด็กไทยทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่ดี มีคุณภาพและส่งเสริมทักษะชีวิตไม่ใช่หน้าที่ของโรงเรียนเพียงอย่างเดียว โครงการร้อยพลังการศึกษาจึงได้เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนเครื่องมือทางการศึกษาและหวังให้เกิดความร่วมมือระหว่างโรงเรียน ชุมชน และภาคส่วนต่างๆ ของสังคม เพราะเมื่อเด็กๆ เติบโตอย่างมีคุณภาพ ชุมชนและสังคมเองก็จะได้พลเมืองที่มีคุณภาพเช่นกัน

 

ขอขอบคุณเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจ จากผอ.ประเสริฐศักดิ์ เหมือนหาญ ผู้อำนวยการโรงเรียนแม่วินสามัคคี จ.เชียงใหม่

#ร้อยพลังการศึกษา