การแพร่ระบาดของโควิด 19 อาจทำให้โรงเรียนหลายแห่งหวั่นใจที่จะเปิดรับคนภายนอกเข้ามาจัดกิจกรรม แต่ไม่ใช่กับโรงเรียนบ้านว่านเขื่อนค้อวิทยา จ.บุรีรัมย์ เพราะกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โรงเรียนได้เปิดโอกาสให้นักเรียนมัธยมต้นจากโรงเรียนรวมมิตรวิทยา ในเขตพื้นที่การศึกษาเดียวกัน 13 คน และนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์อีก 6 คน มาจัดกิจกรรม English for Everyday Life on Tour ให้กับนักเรียนบ้านว่านเขื่อนค้อฯ ระดับ ป.4-6 ร่วมร้อยคน โดยมีผู้อำนวยการโรงเรียน ครูผู้สอนภาษาอังกฤษ ร่วมสังเกตการณ์การจัดกิจกรรมของเด็ก ๆ
กิจกรรมจัดขึ้นในช่วงครึ่งวันเช้า พี่ ๆ มัธยมต้นและพี่ ๆ นักศึกษาในชุด STAFF มาชวนน้อง ๆ ประถมปลายร้องเพลง เต้น เล่นเกมเป็นภาษาอังกฤษ จากนั้นก็มีการแบ่งกลุ่มย่อยออกเป็น 4 กลุ่ม เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมในฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ เด็ก ๆ จะได้ฝึกฝนทักษะและเรียนศัพท์ภาษาอังกฤษใหม่ ๆ บางฐานพี่ ๆ ม.1 บางฐานพี่ๆ ม.3 เป็นคนนำเล่นเกมและสอนน้อง ๆ เอง บรรยากาศเต็มไปด้วยความสนุกสนาน
นักเรียนมัธยมจากรวมมิตรวิทยาฯ ที่เข้ามาทำกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นกลุ่มแกนนำ 2S ที่ย่อมาจาก Speak and Speed ด.ญ.กิตติพร ครุฑกูล หรืออุ๊ นักเรียนชั้น ม.3 เล่าให้ฟังว่า แกนนำ 2S มีทุกระดับชั้น แบ่งเป็นระดับประถมต้น ประถมปลาย และมัธยมต้น สำหรับระดับมัธยมต้นมีอยู่ 30 กว่าคน ซึ่งเป็นแกนนำจากแต่ละชั้นปี 10-14 คน แกนนำแต่ละชั้นปีจะคิดกิจกรรมหรือเกมต่าง ๆ เพื่อมาฝึกการใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันให้กับนักเรียนทั้งระดับชั้นมัธยมต้นทุกเช้าราว ๆ 30 นาที โดยจะทำหน้าที่วนกันไป เช่น วันนี้นำโดยแกนนำ ม.3 วันพรุ่งนี้ ม.2 วันต่อไป ม.1
อุ๊บอกว่า ถ้าวันพรุ่งนี้เป็นหน้าที่ของแกนนำชั้นไหน ตอนเย็นแกนนำชั้นนั้นก็จะมาคิดเกม ลองเล่นเกมว่าสนุกไหม คิดคำศัพท์ หรือซ้อมท่าเต้น และอาจจะมีนัดหมายกันในวันศุกร์ที่ทั้ง 3 ชั้นปีจะมาซ้อมรวมกัน สำหรับการจัดกิจกรรมค่ายครึ่งวันให้กับน้อง ๆ ที่โรงเรียนอื่นแบบนี้ จะรับอาสาแกนนำ 2S มาทำกิจกรรมเพียง 10 กว่าคนเท่านั้น มีการซ้อมกันล่วงหน้า 1 วัน เพิ่มเติมทักษะเกี่ยวกับการทำความเข้าใจคนที่จะไปสอน และ energy หรือการสร้างอารมณ์ร่วมกับเกม
“กิจกรรมนี้แตกต่างกับการเรียนในห้องเรียนค่ะ” อุ๊เล่าถึงการฝึกภาษาอังกฤษผ่านการเป็นแกนนำ 2S และกล่าวต่อไปว่า เธอไม่ชอบเรียนแบบเน้นไวยากรณ์ แต่ชอบทำกิจกรรม ด้วยความที่เป็นคนช่างพูด พอได้มาทำกิจกรรม 2S ทำให้กล้าพูดภาษาอังกฤษมากขึ้น ทั้งพูดกับเพื่อน ๆ และพี่ ๆ นักศึกษา อุ๊ยังชอบไปหาคำศัพท์ใหม่ ๆ เพิ่มเติม และชอบเรียนรู้รูปประโยคต่าง ๆ จากในอินสตาแกรมด้วย “เวลาเราพูดภาษาอังกฤษ เพื่อน ๆ ในห้องก็จะถามว่าคำนี้แปลว่าอะไร เขาพูดถูกไหม เพื่อน ๆ ก็เอาไปพูดตาม” อุ๊เล่า
สอดคล้องกับเพื่อน ๆ แกนนำอีกหลายคนที่ให้ความเห็นใกล้เคียงว่า การเป็นแกนนำ 2S ทำให้พวกเธอกล้าพูดภาษาอังกฤษมากขึ้น รู้คำศัพท์มากขึ้น สามารถทักทาย แนะนำตัวเป็นภาษาอังกฤษกับคนแปลกหน้าได้ นอกจากนี้ยังได้ทักษะอื่น ๆ อย่างภาวะผู้นำ และความกล้าแสดงออก
“หนูไม่เคยออกมาเป็นสต๊าฟหรือมาเป็นผู้นำแบบนี้” ด.ญ.ศิริขวัญ ศรีประสิทธิ์ หรือข้าว นักเรียนชั้น ม.1 ผู้นำเกมทบทวนคำศัพท์เกี่ยวกับสัตว์เมื่อเช้านี้กล่าว เธอบอกเหมือนเพื่อน ๆ อีกหลายคนว่า กิจกรรม 2S ทำให้เธอกล้าแสดงออก
ทั้งนี้ การพัฒนาแกนนำ 2S ของโรงเรียนรวมมิตรวิทยา เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมใน “โครงการสร้างความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและชุมชนเพื่อบูรณาการการเรียนรู้สู่การพัฒนาทักษะอาชีพของนักเรียน” (Community Engagement) ซึ่งเป็นโครงการพิเศษจากร้อยพลังการศึกษา คุณครูจตุพร ดวงสูงเนิน หรือครูแนน ผู้ดูแลโครงการเล่าว่า เดิมโรงเรียนมีกิจกรรม 2S ในทุกเช้าอยู่แล้ว เมื่อมาร่วมมือกับร้อยพลังการศึกษา ทำให้เกิดความร่วมมือกับสาขาวิชาภาษาอังกฤษธุรกิจ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ส่งกลุ่มนักศึกษามาทำค่ายพัฒนาการเรียนรู้ทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวัน “English for Everyday Life” ให้กับโรงเรียนตั้งแต่ปีการศึกษาที่แล้ว รวมถึงร่วมพัฒนาแกนนำ 2S ด้วย และปีนี้ยังส่งนักศึกษามาฝึกงานด้านการสอนภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนในช่วงภาคเรียนที่ 2
“พี่ ๆ ทำให้อยากเรียนภาษาอังกฤษมากขึ้น” อุ๊กล่าว และอธิบายต่อไปว่า เพราะพี่ ๆ มีกิจกรรมอย่างการออกไปพูดเกี่ยวกับอาชีพต่าง ๆ การให้นักเรียนทำอาหารหน้าชั้นเรียน และอธิบายวิธีทำให้เพื่อน ๆ ฟังเป็นภาษาอังกฤษ การเรียนรู้เรื่องเวลา โดยให้ไปสัมภาษณ์ชีวิตประจำวันของเพื่อนหนึ่งคนว่าใช้เวลาทำอะไรบ้าง จดแล้วมาเล่าเป็นภาษาอังกฤษ “เราได้พูดมากขึ้น จากที่แต่ก่อนจดอย่างเดียว พี่ ๆ ให้พูดเยอะ เราได้ฝึกสำเนียง โดยฟังจากพี่ ๆ พูดมากขึ้น” อุ๊เล่า นอกจากนี้ พี่ ๆ ยังช่วยให้คำแนะนำแกนนำ 2S ในการพัฒนาเกมสนุก ๆ ที่ประยุกต์ให้เข้ากับการฝึกภาษาอังกฤษอีกด้วย
ด้านกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ซึ่งได้ร่วมฝึกแกนนำ 2S กล่าวว่า เป้าหมายในช่วง 1 เทอมที่พวกเขาอยากเห็น คือแกนนำ 2S มีความกล้า สนุกกับภาษาอังกฤษ มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ และกล้าแสดงออกซึ่งจะส่งผลสู่เป้าหมายระยะยาวในอนาคตที่น้อง ๆ จะได้ภาษา ได้คำศัพท์ตามมา “ถ้าสนุก น้องได้ความรู้แน่นอน ต้องทำให้เขาสนใจก่อน แล้วค่อยเข้าเนื้อหา” พิเชษฐ์ จะพีรัมย์ หรือโอม หนึ่งในนักศึกษาผู้ฝึกสอนกล่าว
นอกจากนี้ การออกมาทำค่ายภาษาอังกฤษนอกโรงเรียน ที่น้อง ๆ มีส่วนร่วมตั้งแต่คิดเกมและออกแบบวิธีการเล่น ยังช่วยฝึกทักษะอื่น ๆ อีกด้วย เช่น การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ษมาพร ปราสัย หรือป๊อกแป๊ก ยกตัวอย่างฐานที่เธอดูแลว่า จะมีการซ้อมและทำให้ดูเป็นตัวอย่าง 1 ครั้ง จากนั้นก็ให้แกนนำสลับกันมานำกิจกรรมในรอบต่อไป โดยจะมีการพูดคุยตลอด เพื่อปรับกิจกรรมให้เหมาะสมมากขึ้น โดยแนวคิดของฐานการเรียนรู้ยังเหมือนเดิม “อยากให้แกนนำแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ เขาเคยทำแบบนี้มาทุกวัน พอวันนี้ทำแบบเดิมไม่ได้ เช่น เวลาไม่พอ ก็สามารถตัดกิจกรรมได้”
ในฐานะผู้ดูแลโครงการนี้ ครูแนนกล่าวว่า เมื่อได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ทำให้รูปแบบกิจกรรม 2S ที่เคยเน้นด้านวิชาการถูกปรับให้เป็นกิจกรรมที่มีเกม มีเพลง มีดนตรี ดึงดูดความสนใจของเด็ก ๆ เธอพบว่านักเรียนสนุกกับการฝึกภาษาอังกฤษ และรู้จักคำศัพท์มากขึ้น
ในส่วนของการออกมาจัดค่ายภาษาอังกฤษนอกโรงเรียนเป็นนโยบายที่ผู้อำนวยการโรงเรียนสนับสนุนเต็มที่ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้ฝึกความกล้าแสดงออก “ตอนฝึกที่โรงเรียน เขายังเขินๆ อายๆ พอไปเจอน้อง เขาก็กล้าที่จะทำกิจกรรมตามที่ได้ฝึกมาและแก้ไขสถานการณ์ได้” ครูแนนกล่าว
ทั้งนี้ ท่านผู้อำนวยการโรงเรียนอยากให้เด็ก ๆ ได้ออกไปทำค่ายนอกโรงเรียนแบบนี้เรื่อย ๆ เทอมละ 2 ครั้ง หรืออย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้พวกเขามีประสบการณ์มากขึ้น ฝึกแก้ไขสถานการณ์ที่อาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละโรงเรียน ขณะที่โรงเรียนที่ให้ความร่วมมือ บางแห่งก็เป็นโรงเรียนขาดโอกาสที่มีครูภาษาอังกฤษเพียง 1-2 คน บางแห่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาสที่มีความพร้อมแต่ก็ชอบกิจกรรมเสริมการเรียนการสอนแบบนี้
คุณครูปภาวรินทร์ ชาติศักดิ์ หรือครูนุช ครูผู้สอนภาษาอังกฤษระดับชั้นมัธยมต้น กล่าวเสริมว่า การทำค่ายเพิ่มขึ้นยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้นักเรียนแกนนำหลาย ๆ คนได้แสดงความสามารถอย่างทั่วถึง เพราะกิจกรรมวันเดียวรับอาสาได้ไม่กี่คน และมีนักเรียนแกนนำที่โดดเด่นบางคนเท่านั้น ทั้งยังหวังด้วยว่า การพัฒนาแกนนำ จะเป็นต้นแบบให้กับกลุ่มเพื่อน ๆ ของพวกเขา “ถ้าแกนนำทำได้ ก็น่าจะขยายให้กลุ่มเพื่อนได้” ครูนุชกล่าว ซึ่งเป้าหมายของครูนุชอยากเห็นนักเรียนทั้งโรงเรียนมีความสุขในการเรียนภาษาอังกฤษ มีความสนใจ และอยากเรียนภาษาอังกฤษมากขึ้น
ขอขอบคุณเรื่องราวดีๆ จากกิจกรรม 2S โรงเรียนรวมมิตรวิทยา จ.บุรีรัมย์ ในโครงการ“โครงการสร้างความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและชุมชนเพื่อบูรณาการการเรียนรู้สู่การพัฒนาทักษะอาชีพของนักเรียน” (Community Engagement)
#ร้อยพลังการศึกษา #รวมมิตรวิทยา #ImpactStory #CommunityEngagement #ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา